18 โปรเจ็กต์ร้อน 8 แสนล้าน ตั้งแท่น ครม.ไฟเขียวก่อนเลือกตั้ง

787

เหลือเวลาอีก 3 เดือนเศษ ๆ ที่ประเทศไทยของเราจะเข้าสู่โหมด “เลือกตั้ง” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หากไม่มีอะไรพลิกล็อก นับเป็นช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ที่น่าจับตา ! โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมรอเข้าคิวและขอแทรกคิวเป็นกรณีพิเศษ เพื่อชาติบ้านเมือง

“ประชาชาติธุรกิจ” จึงขอปัดฝุ่น “โพย” เมกะโปรเจ็กต์ที่สำคัญ ๆ ที่คาดว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาอนุมัติ

18 โครงการ 7.3 แสนล้าน

เมื่อกางบัญชีรายชื่อโครงการ มูลค่าการลงทุนรวมจะมีมากถึง 2.4 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้จะมี 5 โครงการที่รอจ่อคิวประมูลแบบเร่งด่วน คิดเป็นมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท

ซึ่งไม่รวมอีก 18 โครงการ มูลค่ากว่า 7.3 แสนล้านบาท ที่คมนาคมเตรียมทยอยเสนอ ครม.ขออนุมัติ เมื่อคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดในอินฟราสตรักเจอร์ของรัฐบาลชุดนี้จะอยู่ที่ 1.25 ล้านล้านบาท

Advertisement

เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้า “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี มือเศรษฐกิจรัฐบาล คสช. ได้เดินทางไปยังกระทรวงคมนาคมด้วยตัวเอง พร้อมสั่งให้ “อาคม” เจ้ากระทรวง สับเกียร์เหยียบคันเร่ง ลุยงานโครงการที่ล่าช้าอยู่โดยเร็วที่สุด โดยประกาศให้กดปุ่มประมูลทันที หลัง ครม.อนุมัติ ภายในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นการประชุม “ครม.นัดสุดท้าย” ณ แดนอีสาน จ.หนองคาย

“ระยะเวลาที่เหลือก่อนจะเลือกตั้งในต้นปีหน้า ไม่อยากให้ปล่อยไว้เฉย ๆ ไปตามกระบวนการ ได้เร่งรัดคมนาคมประมูลโครงการขนาดใหญ่ที่ค้างให้แล้วเสร็จ เพราะโครงการใหญ่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผน ถ้าโครงการไหนจะต้องจัดซื้อจัดจ้าง เปิดประมูล หรือเสนอคณะรัฐมนตรี ขอให้คมนาคมเร่งให้เสร็จสิ้นในปีนี้ ห้ามล่าช้าอีกเด็ดขาด เพราะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่เติบโตในวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากโครงการของคมนาคม จึงไม่อยากให้ชักช้า” แหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคมกล่าวถึง “คำกำชับ” ของ ดร.สมคิด

ล่าสุด นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าว่า นับจากนี้ถึงเดือนมกราคม 2562 กระทรวงเตรียมโครงการลงทุนที่อยู่ในแผนเสนอขออนุมัติจาก ครม.แล้วจำนวน 18 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 738,885 ล้านบาท

ส่วนใหญ่เป็นโครงข่ายคมนาคมการขนส่ง ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ต่างจังหวัด และเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถ้าได้รับการอนุมัติแล้วจะดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้างได้ทันที ทั้งเปิดประมูลทั่วไปและเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP

ทยอยอนุมัติ พ.ย.-ม.ค. 62

ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน มี 7 โครงการ วงเงินรวม 230,442 ล้านบาท ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงิน 114,047 ล้านบาท ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) วงเงิน 10,588 ล้านบาท มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 79,006 ล้านบาท ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1,200 ล้านบาท ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย วงเงิน 1,360 ล้านบาท

รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6,570 ล้านบาท สายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เงินลงทุน 7,469 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 10,202 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) ได้เห็นชอบโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา

ช่วงเดือนธันวาคม มี 6 โครงการ เงินลงทุนรวม 204,258 ล้านบาท มีรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 4 เส้นทาง ช่วงจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 37,523 ล้านบาท ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เงินลงทุน 26,654 ล้านบาท ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เงินลงทุน 8,116 ล้านบาท และช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เงินลงทุน 67,965 ล้านบาท ยังมีโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 42,000 ล้านบาท และก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 วงเงิน 22,000 ล้านบาท

อีก 5 โครงการที่เหลือจะเสนอ ครม.ภายในเดือนมกราคม 2562 รวมเงินลงทุน 304,185 ล้านบาท เป็นโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 4 เส้นทาง คือ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 62,614 ล้านบาท ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 24,287 ล้านบาท ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา วงเงิน 57,369 ล้านบาท และช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 59,915 ล้านบาท และโครงการจัดซื้อเครื่องบิน 23 ลำ ของ บมจ.การบินไทย วงเงินกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามความเห็นของ สศช. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

จ่อประมูล 5 แสนล้าน

นายชัยวัฒน์ย้ำว่า กำลังเร่งรัดการเปิดประมูลโครงการที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว 5 โครงการ รวมมูลค่า 519,505 ล้านบาท ให้ได้ตามแผนที่กล่าวไป ซึ่งจะมีการยื่นซองในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost สัมปทาน 50 ปี ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี และบริหารโครงการ 45 ปี

ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ 2562 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะเปิดประมูลทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก วงเงิน 31,244 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 128,235 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดขายเอกสารได้ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

เดือนมกราคม-มีนาคม 2562 มีรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง เงินลงทุนรวม 50,137 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 85,345 ล้านบาท

คลอดงานด่วนปี”62

นอกจาก “เร่งงานเก่า” ที่ค้างคา ล่าสุด คมนาคมเตรียมทำคลอด “แผนปฏิบัติการเร่งด่วน” หรือ action plan ในปี 2562 ด้วย

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า เพื่อเร่งขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังคัดเลือกโครงการลงทุนเร่งด่วนที่เป็นโครงการใหม่ เพื่อขออนุมัติ จะเริ่มได้ภายในปี 2562 ซึ่งเป็นโครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท และพร้อมในการดำเนินการทั้งหมดตามขั้นตอนแล้ว นั่นคือได้ศึกษาเรื่องความเหมาะสม การออกแบบรายละเอียด การได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในเบื้องต้นจะมีประมาณ 43 โครงการ เป็นโครงการในแผนเร่งด่วนปี 2561 ที่ยังไม่ได้รับอนุมัติและมีโครงการใหม่ 12 โครงการ ที่ สนข.ทำเสร็จแล้ว

โดยกระทรวงคมนาคมจะตรวจสอบความคืบหน้าในโครงการต่าง ๆ พร้อมแจ้งไปยังหน่วยงานเจ้าของโครงการที่เกี่ยวข้อง

ก่อนจะรายงานบอร์ด สศช. และเสนอ ครม.ไฟเขียว คาดว่าจะมีผลบังคับทันที ภายในเดือนมกราคมปีหน้า

ที่มา : ประชาชาติ

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23