ไฮสปีดไทย-จีน คืบหน้าไปอย่างช้าๆ

858

สำหรับรถไฟไทย-จีน โปรเจ็กต์ความร่วมมือของรัฐบาล 2 ประเทศ พัฒนารถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทยเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ที่รัฐบาล คสช.ทุ่มทุนสร้าง 179,412 ล้านบาท ถ้านับจากวันแรกที่ทั้ง 2 รัฐบาลเซ็น MOC ร่วมกันเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557 ก็เดินหน้ามาได้ 4 ปี ถ้านับจากเริ่มถมคันดินจากสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ที่ “กรมทางหลวง” รับหน้าเสื่อเนรมิตให้เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2560 ก็เดินหน้ามาได้ 1 ปี ขณะนี้มีความก้าวหน้า 45% จะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2562 ล่าช้าจากแผนจะต้องเสร็จตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว

ส่วนงานก่อสร้างที่เหลืออีก 249.5 กม. ค่าก่อสร้างกว่า 1.1 แสนล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังทยอยกดปุ่มประมูล ตั้งเป้าจะให้ครบถ้วนทุกสัญญาภายในเดือน มิ.ย-ก.ค.นี้ เพื่อเริ่มตอกเข็มก่อสร้างอย่างจริงจัง หวังให้แล้วเสร็จเปิดบริการภายในปี 2565

ในเมื่อมีเสียงสะท้อนจากรับเหมารายใหญ่ถึงรถไฟความเร็วสูงสายนี้“ไม่ใช่งานหมู ๆ” เพราะการดีไซน์ของจีนไม่สอดคล้องกับวิธีการทำงานของผู้รับเหมาไทย จึงทำให้การประมูลสัญญาที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 3,350.47 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไม่คึกคักอย่างที่คิด

มี 5 รับเหมาตบเท้าร่วมชิงเค้ก ไร้เงาขาใหญ่ มีเพียง “อิตาเลียนไทยฯ”แต่ก็พ่ายให้กับ “ซีวิล เอนจิเนียริ่ง” รับเหมานอกตลาดที่เคาะราคาต่ำกว่าราคากลาง 7% แม้การรถไฟฯจะได้ผู้เสนอราคาต่ำสุด แต่ยังไม่สามารถประกาศผลผู้ชนะอย่างเป็นทางการได้

เนื่องจากตามระเบียบการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Bidding ไม่ได้ดูแค่ราคาต่ำสุดอย่างเดียว ต้องผ่านการพิจารณาทั้งคุณสมบัติและเทคนิคด้วยถึงจะเซ็นสัญญาได้สะดวก อีกทั้งยังไม่รู้การรถไฟฯจะใช้เวลาเจียระไนอีกนานแค่ไหน เพราะผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดเป็นรับเหมางานถนน ไม่ใช่โครงการรถไฟฟ้า ผสมโรงกับตอนนี้มีบิ๊กรับเหมารวมตัวกันร้องเรื่องสเป็กก่อสร้างที่จีนออกแบบ ไม่เหมาะกับวิธีการก่อสร้างของประเทศไทย ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าจับตาว่าจะส่งผลกระทบต่อการประมูลงานให้ยืดเยื้อออกไปอีกหรือไม่

Advertisement

การรถไฟฯอธิบายว่า การออกแบบรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ทางจีนออกแบบให้โครงสร้างมีอายุการใช้งานได้ถึง 100 ปี ไม่เหมือนไทยที่ส่วนใหญ่ออกแบบไว้ 50-70 ปี ทำให้สเป็กและวิธีการทำงานต่างกัน “โครงการนี้ใช้ระบบเทคโนโลยี่ของจีน ต้องยึดแบบและวิธีการก่อสร้างตามจีน ก็ต้องทำตามความเข้าใจกับผู้รับเหมาไทยว่าในทางทิคนิคแล้วสามารถดำเนินการได้”

แม้จะเคลียร์ใจกับรับเหมาไทยได้ แต่งานใหญ่ของการรถไฟฯในปีนี้ที่รออยู่ข้างหน้า ยังมีเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง จนถึงขณะนี้ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินยังไม่คลอด โดยตลอดแนวมีเวนคืนที่ดิน 2,815 ไร่ วงเงิน 13,096 ล้านบาท งานใหญ่คือต้องย้ายท่อก๊าซ ปตท.ออกจากแนวเส้นทาง 40 กม.ช่วงกรุงเทพฯ-ชุมทางบ้านภาชี ซึ่งจะต้องปรับแบบและขยับแนวใหม่

ขณะเดียวกันก็ต้องเงี่ยหูฟังทางจีนจะตอบเซย์เยส ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้งานระบบและซื้อขบวนรถจาก 3% เหลือ 2.3% อย่างที่ไทยหมายมั่นไว้หรือไม่ เพราะเปิดโต๊ะเจรจากันมาหลายรอบยังเคาะไม่ลงตัวสักที เมื่อดูภาพรวมความก้าวหน้าของ รถไฟไทย-จีน” แล้ว นอกจากงานถมคันดินที่กำลังจะได้เห็นเป็นรูปธรรมในเร็ว ๆ นี้ งานส่วนอื่นที่เหลือยังอยู่ในกระบวนการ ซึ่งมีแนวโน้มจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการกว่าทุกอย่างจะฉลุย

 

ที่มา คอลัมน์ ชั้น5 ประชาชาติ วันที่ 12 มกราคม 2562

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23