‘ไฮสปีดไทย-จีน’ฉลุย พ.ย.นี้ลงนาม ‘หลี่ เค่อเฉียง’ ‘วางราง-หาขบวนรถ’

1204
ไฮสปีดไทย-จีนฉลุย

ไฮสปีดไทย-จีน ฉลุย “ศักดิ์สยาม” นำทีม เซ็นสัญญาฉบับที่ 2.3 ระบบอาณัติสัญญาณ-ราง-จัดหาขบวนรถ-อบรมบุคลากร กับนายกรัฐมนตรีจีน “หลี่ เค่อเฉียง” ในงานยอดผู้นำอาเซียน พ.ย.62 นี้

โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง หรือคุ้นหูในชื่อ “รถไฟไทย-จีน” ถือเป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐหรือแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างไทยกับจีน โดยโครงการดังกล่าวจะเชื่อมต่อเส้นทางจากกรุงเทพฯไปยังหนองคาย ซึ่งผู้โดยสารสามารถข้ามชายแดนจากหนองคายเข้าสู่ สปป.ลาว และขึ้นรถไฟต่อจากนครหลวงเวียงจันทน์ผ่านเข้าทางตอนเหนือของ สปป.ลาว มุ่งหน้าสู่เมืองคุนหมิง ประเทศจีนบริเวณตอนใต้ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังมีความสำคัญในแง่ของความสัมพันธ์ภายใต้ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ – นครราชสีมา) จะใช้งบประมาณ 1.79 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่ารื้อย้าย 1.3 หมื่นล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 1.22 แสนล้านบาท งานระบบไฟฟ้า 3.4 หมื่นล้านบาท ค่าจัดหาตู้รถไฟ 4.4 พันล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษา 5.1 พันล้านบาท โดยงานก่อสร้างนั้นแบ่งย่อยออกเป็น 14 สัญญา วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ล่าสุดมีความคืบหน้าไปมาก และช่วงที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร ได้รับอนุมัติจากครม.ให้ดำเนินโครงการต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเจรจาร่างสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ฉบับที่ 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,600 ล้านบาท มีความคืบหน้าเป็นระยะ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายสามารถแก้ปัญหาข้อติดขัดที่ผ่านมาจำนวน 11-12 ประเด็นได้แล้ว โดยลำดับต่อไป ทางฝ่ายจีนจะไปหารือกับทางคณะทำงาน ขณะที่ฝั่งไทยนั้นก็ต้องนำข้อสรุปไปหารือต่อเช่นกันกับทางอัยการสูงสุด

ทั้งนี้เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันด้วยข้อสรุปดังกล่าว ขั้นตอนต่อไปจะต้องนำร่างสัญญามาตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง จากนั้นฝ่ายไทยต้องเสนอร่างสัญญาให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและลงนามสัญญาต่อไป ซึ่งทาง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายไทย ตั้งเป้าจะลงนามสัญญาฉบับที่ 2.3 ในระหว่างที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ในเดือน พฤศจิกายน 2562 นี้

Advertisement

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน สัญญาฉบับ 2.3 มีอายุสัญญาประมาณ 3-4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเปิดให้บริการในปี 2566 โดยเบื้องต้นดำเนินงานเป็น 3 ส่วนตามการส่งหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ได้แก่ NTP ฉบับที่ 1 งานออกแบบระบบและขบวนรถ NTP ฉบับที่ 2 งานก่อสร้างและติดตั้งระบอาณัติสัญญาณ รวมถึงผลิตขบวนรถ และ NTP ฉบับที่ 3 งานฝึกอบรม ซึ่งทั้งนี้ ฝ่ายจีนจะต้องทำงานใน NTP ฉบับที่ 1 ให้แล้วเสร็จก่อน ฝ่ายไทยจึงเริ่มออก NTP ฉบับที่ 2 ได้

ด้านการประมูลโยธาที่เหลืออีก 2 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อยและสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ทางคณะทำงานจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 นี้ โดยพิจารณาผลการประกวดราคาให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ในส่วนของการเวนคืนนั้น ขณะนี้ รฟท.ได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนดำเนินการเวนคืนที่ดินและจัดกรรมสิทธิ์ต่อไป ทั้งนี้สำหรับโครงการรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา- หนองคาย) ขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดงานโยธา คาดว่าการประมูลทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปีนี้ และสามารถเปิดใช้เส้นทางเฟสแรกได้ภายในปี 2566 

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/410232

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23