แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงภาคอุตสาหกรรม แต่อาจไม่กระทบต่อการตัดสินใจลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย อย่างในพื้นที่อีอีซี โดย 2 อุตสาหกรรม อย่างเทคโนโลยีดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร ที่ดูจะมีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจจริงของทุกประเทศทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบผ่านห่วงโซ่อุปทานจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและแรงงาน เนื่องจากจีน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและส่งออกสินค้าขั้นกลางรายใหญ่ของโลกจำเป็นต้องหยุดการผลิตชั่วคราว
ห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและมีความเชื่อมโยงในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น จะก่อให้เกิดปัญหาการหยุดชะงักของการผลิต กระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและส่วนประกอบ เนื่องจากมีการพึ่งพิงวัตถุดิบขั้นกลางจากหลายประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน
การระบาดของโควิด-19 ย่อมส่งผลกระทบต่อสายพานการผลิต แต่อาจไม่กระทบต่อการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์ เพื่อการอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต พบว่ามี 2 อุตสาหกรรม ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร น่าจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังยุคโควิด-19
ทั้งนี้ มีการรายงานสำรวจของกรุ๊ปเอ็ม ระบุว่า ภายหลังจากการที่ภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ได้ร่วมมือกันรณรงค์ให้ประชาชนกักตัวและทำงานจากที่บ้าน พบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คนไทยมีการปรับตัวโดยพึ่งพาการใช้จ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์และอีคอมเมิร์ซมากขึ้นโดย 52% เริ่มสมัครดู Streaming แบบจ่ายเงิน และ 44% เริ่มสั่งอาหารออนไลน์ (หรือสั่งมากขึ้น) ทั้งนี้การสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 116%
ขณะที่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ประเทศไทยมีแพทย์และพยาบาลที่เก่งมาก มีโรงพยาบาลที่ทันสมัย ในอนาคตจะต้องเพิ่มการลงทุนในการผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ การรักษาโรคทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต/ สมาร์ทโฟน จากรายงานสำรวจพบว่าคนไทยเริ่มตระหนักภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนชื่อไวรัสสโคโรน่าเป็นโควิด-19 และมีความตื่นตัวหลังจากมีข่าวผู้เสียชีวิตรายแรก
โดย 52% เริ่มมีความกังวลต่อสุขภาพของตนเอง สอดคล้องกับพฤติกรรมการค้นหาแพ็คเกจประกันชีวิตที่ได้เพิ่มจำนวนการสืบค้นข้อมูลอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค. ขณะเดียวกันยอดขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย อาทิ หน้ากากอนามัย ถุงมือ เสื้อป้องกันเชื้อโรค เจลล้างมือ วิตามินซี มีอัตราการเติบโตของยอดขายสูงกว่า 2,000% ในช่วงกลางเดือน ม.ค. ถึง ก.พ.
ในพื้นที่อีอีซียังสามารถรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อีกมาก คาดว่าหลังยุคโควิด-19 ทุกภาคส่วนจะเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน การเรียนการสอนหนังสือ การสั่งซื้อสินค้าและอาหาร การส่งพัสดุด่วน ตลอดจนการสื่อสารตลอดระยะเวลาที่ทำงานร่วมกัน
ขณะที่อีกธุรกิจหนึ่งมีแนวโน้มได้รับความสนใจลงทุนมากขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการแพทย์ครบวงจร ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึงการให้บริการทางการแพทย์ยุคใหม่ การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและติดตามผลระยะไกล การวิจัยยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งทุกประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพและระบบสาธารณสุขมากขึ้น
ที่มา : www.bangkokbiznews.com