โควิดซัดเศรษฐกิจโลกชะลอ ฉุดส่งออกไทยปีนี้ติดลบ 10 %

2621
Container ship in export and import business and logistics. Shipping cargo to harbor by crane. Water transport International. Aerial view

สรท.ประเมินส่งออกปีนี้ยังน่าเป็นห่วง จากปัจจัยเศรษฐกิจคู่ค้าซบเซา หั่นเป้าติดลบ 10 % ส่งหนังสือถึงรัฐบาลเร่งดูแลค่าเงินบาทแข็งค่า ล็อคตัวเลขเหมาะสมที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนพ.ค. 2563 มีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 22.50% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 524,584 ล้านบาทลดลง 20.91% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้าเดือนพ.ค. 2563 มีมูลค่า 13,583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 34.41 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 443,478 ล้านบาท ลดลง 33.08% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ส่งผลให้ เดือนพ.ค.ไทยเกินดุลการค้า 2,694 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 81,105 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนพ.ค. การส่งออก ลดลง 27.19% )

สำหรับภาพรวมการส่งออกช่วง 5 เดือนแรก(ม.ค.- พ.ค.) มีมูลค่า 97,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 3.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ มูลค่า 3.04 ล้านล้านบาท ลดลง 5.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 88,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง11.64 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 2.79 ล้านล้านบาท ลดลง 13.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 5 เดือน เกินดุลการค้า 9,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 248,531 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.ค. – พ.ค. ส่งออกลดลง 6.56% )

ทางสรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 ติดลบ 10% บนสมมติฐานค่าเงิน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 5 ก.ค. = 31.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญเพียงปัจจัยเดียว คือ การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร และสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และอาหารกระป๋อง แปรรูป เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคมีอุปสงค์ในสินค้าอาหารเพื่อดำรงชีพช่วงการกักตัวและการฟื้นฟูเพิ่มขึ้น

Advertisement

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. Global economic slowdown การหดตัวของอุปสงค์จากคู่ค้าต่างประเทศและอุปทานการผลิตภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวส่งผลให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบและอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ ทำให้เกิดภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงของการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มสินค้ายานยนต์ โดยต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งมีโอกาสที่จะกลับมาระบาดรอบ 2 และการประกาศใช้มาตรการ Lockdown ของประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลกอีกครั้ง

2. ปัญหา International logistics อาทิ อัตราค่าระวางปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ route อเมริกา จาก 2 สาเหตุ คืออุปสงค์การส่งออกไปยังเส้นทางทรานส์แปซิฟิกที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากปริมาณสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวมาเท่ากับช่วงปกติ และ สายเรือของไทยได้ Space Allocationลดลง เนื่องจากมีการให้ Spaceไปยังประเทศจีนมากกว่า เพราะสามารถทำราคาได้สูง ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ Space เรือที่ส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐ ค่อนข้างแน่น ต้องจองระวางล่วงหน้า สายเรือจึงมีการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวาง และมีการเรียกเก็บค่า General Rate Increase (GRI) เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การจัดการโลจิสติกส์ในประเทศปลายทางยังมีอุปสรรค จากมาตรการ lockdown แต่ละประเทศทำให้เกิดส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อ

3.ความเสี่ยงการได้รับชำระเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศเนื่องจากผู้ประกอบการส่งออกชำระเงินล่าช้าหรือไม่ชำระเงินของคู่ค้า จากผลกระทบโควิด-19 บางประเทศมีการออกกฎเพื่อช่วยผู้ประกอบการในประเทศตน ส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการส่งออกนำเข้าของไทย ขาดสภาพคล่อง

4. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์จากแนวโน้มการหดตัวทางเศรษฐกิจ ติดลบ 6.5% และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือน อยู่ที่ 30.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้า โดยเฉพาะในสถานการณ์ ซึ่งผู้บริโภคทั่วโลกระมัดระวังการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น

5. ค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าปี 2562 จากการชะลอตัวของอุปสงค์การใช้น้ำมันทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 แม้ว่าจะมีการลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงเดือนก.ค.ของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งและเดินทางปรับตัวสูงขึ้นและ 6. ปัญหาภัยแล้งภายในประเทศที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อปริมาณอุปทานในสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดน้อยลง และคุณภาพของสินค้าลดลงเนื่องด้วยความเสียหายจากภัยแล้ง

น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่าเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเสนออัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31.12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากปีก่อนก็ตาม แต่ที่ผ่านมาค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านจนส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยเมื่อปี 2558 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปี 2559 อยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปี 2560 อยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐและปี 2561 อยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : www.posttoday.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23