แผนสร้างภูมิคุ้มกัน ‘เมืองท่องเที่ยว’ กรณีศึกษาเมืองภูเก็ต

928

ส่องข้อเสนอด้านยุทธศาสตร์เสริมภูมิคุ้มกันเมืองท่องเที่ยวในวิกฤติโควิด-19 กรณีศึกษาเมืองภูเก็ต ของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง มีแผนยุทธศาสตร์อะไรบ้าง? และจะทำให้ภูเก็ตเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน?

ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวในระดับสูง (Hyper Tourism Dependency) วิกฤติโควิด-19 จึงไม่เพียงสร้างผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการ หากภาวะความซบเซาทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดขึ้นตลอดปี 2563 ยังสะท้อนให้เห็นจุดอ่อนและความเปราะบางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศทั้งระบบ 

ดังนั้น ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) จึงมีข้อเสนอด้านยุทธศาสตร์เสริมภูมิคุ้มกันเมืองท่องเที่ยวในวิกฤติโควิด-19 กรณีศึกษาเมืองภูเก็ตจากการหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ผู้ประกอบการ นักวิชาการในพื้นที่ ตลอดจนภาคีพัฒนาเมืองภูเก็ต เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในระยะสั้น

รายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์ คือการสร้างระบบความเชื่อมั่น (Immunitised Community) บนพื้นฐานของการปรับตัวของต้นทุนทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ของเมือง โดยการออกแบบนิเวศแห่งการท่องเที่ยวเพื่อรองรับมาตรการสาธารณสุข ตั้งแต่เมืองต้นทางถึงสถานกักตัว และย่านที่อยู่อาศัยโดยรอบ ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังมองหาที่พักพิงในช่วงวิกฤติ โดยปรับเมืองภูเก็ตกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวและอยู่อาศัยชั่วคราวที่ปลอดภัย

ภูเก็ตในฐานะมหานครด้านการท่องเที่ยวทางภาคใต้ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นมหานครการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคเลย คงหนีไม่พ้นกับโจทย์ด้านความสามารถในการล้มลุก รวมถึงการตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมภายนอกอย่างรวดเร็วและฉับพลัน เพื่อให้ยังคงใช้ศักยภาพและจุดแข็งด้านการเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ทั้งในปัจจุบันและอนาคตหลังการเปิดเมือง เพราะนี่คือโอกาสของปรับเปลี่ยนเพื่ออยู่รอด และก้าวกระโดดต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ

Advertisement

ส่วนแผนระยะกลาง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองเสนอให้ภาครัฐลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินทาง อาทิ ระบบขนส่งมวลชนและทางเดินเท้าคุณภาพ เช่นทางเท้ามีพื้นเรียบเสมอกัน มีความกว้างเพียงพอและปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อ (connectivity) ในสเกลใหญ่ระหว่างเมือง และสเกลเล็กระหว่างย่าน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์โดยตรงต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนเมือง และช่วยกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการรายย่อย ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มด้านสินค้าและบริการ ส่งผลให้เมืองหลุดพ้นกับดักรายได้การท่องเที่ยวปานกลาง

ยิ่งต้องพึ่งพารายได้การท่องเที่ยว ยิ่งต้องมีสภาพแวดล้อมเมืองคุณภาพ หลายคนอาจคิดว่านักท่องเที่ยวเป็นคนเลือกเมือง แต่ในความเป็นจริง เป็นไปได้อย่างสูงที่เมืองต่างหากเป็นผู้เลือกนักท่องเที่ยว ในเมื่อไทยเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เมืองของเรายังไม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวในระดับพรีเมียมได้อย่างเต็มที่ เป็นได้แค่เมืองท่องเที่ยวระดับกลาง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่เพียงติดกับดักรายได้ปานกลาง แต่ยังติดกับดักรายได้การท่องเที่ยวปานกลางด้วยเช่นกัน

สำหรับกรณีเมืองภูเก็ต ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ได้ศึกษาและวางผังโครงการยุทธศาสตร์นำร่องกระตุ้นการท่องเที่ยว ตลอดจนพัฒนาสภาพแวดล้อมส่งเสริมสุขภาวะและพื้นที่นันทนาการของชุมชน ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา ภาคีพัฒนาและชุมชน อาทิ โครงการฟื้นฟูคลองบางปากกะตะ ย่านกะตะ-กะรน โครงการพัฒนาเมืองเดินได้เมืองเดินดีย่านเมืองเก่าภูเก็ต โครงการฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำสะพานหิน โครงการฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำคลองบางใหญ่ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ข้อมูลโดยโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) โดย UddC-CEUS และ สสส.พบว่าหากภาครัฐลงทุนโครงการฟื้นฟูและพัฒนาสภาพแวดล้อมเมือง ที่สอดรับกับโอกาสจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมสนามบินกับย่านเศรษฐกิจศูนย์กลางเมือง จะช่วยส่งเสริมคุณภาพการเดินเท้าของเมือง ตลอดจนการเชื่อมต่อระหว่างย่านสำคัญของเมืองซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23