เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ปีแห่ง 4-3-2-1

ผู้เขียน ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ | คอลัมน์ Global Vision จาก Bangkokbiznews

1752

มองข้ามช็อต “เศรษฐกิจไทย” ปี 2564 ปีที่ยากจะเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นในระดับ 4-5% ดังนั้นภาพที่ออกมาจึงจะเป็นลักษณะปีแห่ง 4-3-2-1 การคลังเป็นกองหน้านำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเงินเป็นกองหลัง ต่อสู้กับโควิดที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นภาคเอกชน

2563 เป็นปีอาถรรพณ์ที่หักปากกาเซียนเศรษฐกิจทุกราย ในส่วนของผู้เขียนนั้นเคยคาดการณ์ในปลายปี 2562 ไว้ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 จะไม่แตก ไม่ตาย แต่ไม่โต แต่ความเสี่ยงวิกฤติจะมากขึ้นตามดัชนีชี้วัดหนึ่งที่ไม่เคยผิดพลาด อันได้แก่ Inverted Yield Curve หรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐกลับทิศ ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2563 นั้น ผู้เขียนเคยมองว่าจะเป็นปีแห่ง 0-1-2 กล่าวคือการส่งออกไม่โตเลย เงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ 1% และจีดีพีโตที่ 2%

แต่โควิดก็หักปากกาทุกคน เพราะไวรัสที่นำไปสู่การปิดเมืองทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวในระดับ 4% ตกต่ำที่สุดตั้งแต่ยุค the great depression ในช่วง 80 ปีก่อน ขณะที่เศรษฐกิจไทยกลายเป็นปีแห่ง (-8)-(-1)-(-8) กล่าวคือเศรษฐกิจและการส่งออกติดลบประมาณ 8% ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง และเงินเฟ้อติดลบประมาณ 1% (แต่ดอกเบี้ยอยู่ที่ +0.5%)

ยิ่งไปกว่านั้น โควิดยังนำไปสู่แผลเป็นลากยาว เพราะสงครามระหว่างไวรัสกับมนุษยชาติยังไม่เห็นแสงสว่าง ผู้นำประเทศชั้นนำทั่วโลกติดเชื้อไวรัส หลายประเทศกำลังเผชิญกับการติดเชื้อครั้งใหม่ (Second wave) ขณะที่ประเทศที่ยังไม่ติดก็ไม่กล้าเปิดประเทศให้กับนักเดินทาง ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวและบริการโดยรวม

จะเกิดอะไรขึ้นในปี 2564 เศรษฐกิจจะกลับมาโตเป็นปกติได้ไหม คำตอบของคำถามเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการมาของวัคซีน ซึ่งจะได้ก็ต่อเมื่อวัคซีนได้รับการคิดค้น พิสูจน์ ยอมรับ และแจกจ่ายให้กับพลโลกทั้งหมด หรือมิฉะนั้นทุกคนก็ต้องยอมรับที่จะอยู่กับไวรัสตลอดไป ในกรณีแรกนั้นหลายฝ่ายคาดว่าวัคซีนอาจสำเร็จได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 และได้รับการแจกจ่ายทั่วโลกภายในไตรมาสที่ 3 เป็นอย่างเร็วที่สุด กระนั้นก็ตาม แม้ผู้คนจะได้วัคซีนแล้วแต่ความเชื่อมั่น การเดินทาง การสันทนาการ ยากที่จะกลับสู่ระดับเดิม

Advertisement

เมื่อเป็นเช่นนั้น ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะมีภาพ 3 ประการ คือ 1.การขยายตัวจะต่ำลง โอกาสที่จะฟื้นในระดับ 4-5% เป็นไปได้ยาก โดยรูปแบบการฟื้นตัวจะคล้ายเครื่องหมายไนกี้ แต่อ่อนแอและขรุขระกว่า 2.นโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นจะลดลง โดยนโยบายการคลังจะเริ่มกังวลเรื่องหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ขณะที่การเงินจะกังวลเรื่องภาวะฟองสบู่และพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงในการลงทุน (Moral Hazard) อันเป็นผลจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำมากขึ้น 

และ 3.ความเสี่ยงมีมากขึ้น ทั้งการเมืองในสหรัฐ (ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็ตาม) ยุโรป รวมถึงประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐ (โดยเฉพาะในประเด็นไต้หวัน) และภาวะภูมิอากาศผันผวนอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน

เมื่อภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกเป็นเช่นนั้น ยากที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นในระดับ 4-5% อันเป็นระดับที่สำนักวิจัยหลายแห่งคาดในปีหน้า โดยในส่วนของผู้เขียนมองว่าภูมิลักษณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 นั้นจะประกอบด้วยภาวะความแตกต่าง 3 ประการ คือ

1.เศรษฐกิจระหว่างประเทศกับในประเทศ โดยภาวะโควิดที่ลากยาวนั้น จะทำให้เศรษฐกิจที่พึ่งพิงต่างประเทศ เช่น การท่องเที่ยวและการส่งออกนั้นยังถูกกดดัน ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ เช่น การบริโภคเอกชนและการลงทุนภาครัฐจะฟื้นตัวได้บ้างตามมาตรการการคลัง

2.ภาคการผลิตกับภาคบริการ โดยภาคบริการจะยังถูกกดดันจากการท่องเที่ยวและความกังวลของผู้บริโภค (Consumer risk-averse) ทำให้จะยังหดตัวหรือเติบโตต่ำ ขณะที่ภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตรจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ตามความต้องการซื้อสินค้าไม่คงทน (Non-durable) ที่จะเริ่มกลับมาบ้างตามการบริโภค รวมถึงภาวะ La Nina ที่ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรออกมาดี

3.นโยบายการเงินและการคลัง โดยการคลังจะเห็นการอัดฉีดที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” “คนละครึ่ง” และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะกระตุ้นอารมณ์การบริโภคต่อเนื่องได้บ้าง อย่างน้อยในครึ่งปีแรก และจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ (หวังว่า) จะเพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินจะหันมาเป็นกองหลังเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กังวลผลข้างเคียงจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำ

ด้วยภาพเช่นนี้ มุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเป็นปีแห่ง 4-3-2-1 โดย 

4% คือระดับการเติบโตของการบริโภค ที่ถูกฉุดขึ้นจากสินค้าไม่คงทนเป็นหลัก (รวมถึงการฟื้นตัวของสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ รถกระบะ บ้าง) 

3% คือการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ที่จะต่ำกว่ารูปแบบการฟื้นตัวปกติที่ควรจะเป็นอย่างน้อย 5% หลังจากติดลบประมาณ 8% ในปีนี้ 

2% คือการฟื้นตัวของการลงทุนเอกชนและปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ โดยการลงทุนฟื้นตัวได้น้อยเนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่เชื่อมั่น และกำลังการผลิตส่วนเกินยังอยู่สูง ขณะที่ปริมาณการส่งออกถูกกดดันด้วยโรคโควิดที่ยังทำให้การส่งออกและท่องเที่ยวอ่อนแอ

1% คือภาวะเงินเฟ้อที่อาจฟื้นตัวได้ในระดับ 0.6-0.7% ตามราคาน้ำมันโลกที่อาจฟื้นขึ้นมาบ้างแต่ไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการนำเข้ายังอยู่ระดับต่ำจากการลงทุนเอกชนที่อ่อนแอ ทำให้บัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลค่อนข้างสูง บาทยังคงแข็งค่า ซึ่งจะกดดันทำให้เงินเฟ้อต่ำกว่าที่ควรจะเป็นด้วย และเป็นไปได้สูงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท

กล่าวโดยสรุปคือ ปีแห่ง 4-3-2-1 คือปีที่การคลังเป็นกองหน้านำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเงินเป็นกองหลัง เพื่อต่อสู้กับทัพของโควิด ที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ขณะที่ความเสี่ยงด้านลบคือบาทแข็ง การเบิกจ่ายภาครัฐไร้ประสิทธิภาพ และการติดเชื้อรอบที่สาม แต่ก็มีความหวังด้านบวกจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ภาครัฐวาดฝัน เช่น สะพานไทย และ Land bridge เชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน เป็นต้น

เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนจบบทความด้วยความหวัง รัฐบาลไทยขอได้โปรดทำให้ความหวังผู้เขียนเป็นจริงได้ด้วยเถิด ประเทศไทยจะได้ 4-3-2-1-0 Lift-off ได้เสียที

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23