SCB EIC ประเมินผลกระทบ COVID-19 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกช่วงที่เหลือของปีพบว่า เศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัว ค่อยเป็นค่อยไป โดยมาตรการทางการคลังและการเงินคอยช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและลดความผันผวนในตลาดเงิน ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินปรับตัวดีขึ้น
EIC ประเมินผลกระทบ COVID-19 และวิเคราะห์ 4 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก นโยบายการเงิน การคลัง ตลาดการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและไทย ช่วงที่เหลือปี 2020 ดังนี้
การปิดเมืองและการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สู่การทยอยเปิดเมือง และการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ทั่วถึง
มาตรการควบคุมโรคส่งผลกระทบรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคบริการและภาคการผลิต ส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของหลายๆ ประเทศพบว่า ในเดือนเมษายนชะลอลงรุนแรง ดัชนี PMI ภาคบริการลดลงมากกว่าภาคการผลิต ทำให้การปิดเมืองส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) มากกว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) เนื่องจากกลุ่มประเทศ DM มีสัดส่วนภาคบริการในระบบเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มประเทศ EM
นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2020 บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวมีความสัมพันธ์กับความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค

หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ค่อนข้างมาก
จำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง ทำให้หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม
เครื่องชี้ในตลาดแรงงานสหรัฐฯมีการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเริ่มชะลอลงทั้งผู้รับฯ ครั้งแรก และผู้ขอรับฯ ต่อเนื่อง อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 13.3% จากเดือนเมษายนอยู่ที่ 14.7%
อุตสาหกรรมบางส่วนเริ่มกลับมาดำเนินการได้ บางอุตสาหกรรมยังกลับมาเปิดบริการไม่ได้ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เช่น ภาคการผลิตและก่อสร้างมีสัญญาณฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว ขณะที่ภาคบริการ เช่นการท่องเที่ยวและบันเทิงที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าภาคการผลิต การฟื้นตัวก็ต้องใช้เวลากว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติจนกว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้


EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2020 ลงเหลือ -3.5% และประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีลักษณะเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่ทั่วถึง (U-shaped and uneven recovery) กิจกรรมทางเศรษฐกิจครึ่งหลังของปีหลังภาครัฐดำเนินนโยบายการเงินและการคลังขนาดใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศษฐกิจ บางภาคส่วนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป
การฟื้นตัวดังกล่าว อยู่บนสมมติฐานที่ว่าแต่ละประเทศสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้และจะไม่มีการระบาดระลอก 2 เป็นวงกว้าง ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราลดลงเรื่อยๆ หากมีการระบาดระลอก 2 ที่รุนแรงเทียบเท่าหรือมากกว่ารอบแรก ก็อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นลักษณะ W หรือ L-shape คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซายาวนาน และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปมีมากขึ้น

มาตรการทางการคลังขนาดใหญ่และมาตรการทางการเงินในรูปแบบที่ไม่ปกติ จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและลดความผันผวนในตลาดการเงิน
- นโยบายที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และธุรกิจ SMEs เช่น โครงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การรับประกันสินเชื่อ จากภาครัฐ
- นโยบายที่สนับสนุนภาคครัวเรือน เช่น การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงต่อครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ การให้เงินสนับสนุนแก่ผูว่างงานและขยายระยะเวลาที่ได้รับเงินช่วยเหลือ
- นโยบายเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐทั่วไป เช่น การลงทุนภาครัฐผ่านการสร้างและปรับปรุงโรงพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติม
นโยบายการเงิน ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และออกมาตรการการเงินแบบไม่ปกติ
- มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน จุดประสงค์เพื่อลดต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตลาดตราสารหนี้ และให้เงินทุนในตลาดเงินยังสามารถหมุนเวียนได้ปกติ อีกทั้งสนับสนุนให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน
- มาตรการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคส่วนที่ได้รับความเดือดร้อน
- มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องแก่ธุรกิจ
- การผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น


ภาครัฐและธนาคารกลางทั่วโลกได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีส่วนช่วยพยุงความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาเพิ่มขึ้นได้บ้าง ทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้นในบางสินทรัพย์ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการขาดดุลทางการคลังและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ


หากการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจผ่าน 3 ช่องทาง
- อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอาจลดลง
- การดำเนินนโยบายการเงินอาจมีข้อจำกัดมากขึ้นจากนโยบายทางการคลัง
- เพิ่มความเสี่ยงต่อความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ ปี 2020 นี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสินทรัพย์ทางการเงินของประเทศลงบ้างแล้ว เนื่องจากความมกังวลที่เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะหดตัวและหนี้สินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลลดลงและมีความเสี่ยงด้านเครดิตปรับสูงขึ้น

ระยะต่อไป ต้องจับตามองความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของภาคเอกชน และความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีนที่อาจกลับมาประทุอีกครั้ง
ที่มา : brandinside.asia
ที่มาต้นฉบับ : www.scbeic.com