ผวา ‘เมืองใหม่’ รอนสิทธิ์ชุมชน

1666
เมืองใหม่อีอีซี

ประชาชน-เกษตรกรระยอง หวั่น “อีอีซี” ซ้ำรอยอีสเทิร์นซีบอร์ด แนะคำนึงผลประโยชน์คนพื้นที่ เสนอตั้งกองทุนรับมือผลกระทบสุขภาพคนพื้นที่ ห่วงแย่งที่ดิน-น้ำเพื่อการเกษตร หนุนใช้ที่ดิน ส.ป.ก. แปลงเป็นทุนพัฒนา เมืองใหม่อีอีซี

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อรับฟังความเห็นโครงการศึกษาออกแบบ การพัฒนาเมืองใหม่ นำร่องในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มาแล้ว 4 ครั้ง โดยมีผู้แทนภาคประชาชนและเกษตรกรเข้าร่วมแสดงความเห็น ซึ่ง สกพอ.จะสรุปแผนพัฒนาเมืองใหม่ให้ได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2562

ร่างผังการใช้ประโยชน์อีอีซีกำหนดกรอบพื้นที่สำหรับ การพัฒนาเมืองใหม่ และพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจอย่างน้อย 15,500 ไร่ ซึ่งประมาณการจากโมดูลเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ 12,500 ไร่ พื้นที่ศูนย์กลางการเงิน 500 ไร่ และพื้นที่มหานครการบิน 2,500 ไร่

สกพอ.มีการประเมินโมดูลเมืองใหม่อัจฉริยะที่มีขนาด 12,500 ไร่ รองรับประชากรได้ 150,000 คน โดยจะใช้พื้นที่เป็นแบบผสมผสาน (Mixed-Use Land) และอาจขยายอีก 5 โมดูล เพื่อรองรับประชากร 1 ล้านคน ใน 15 ปี

ในขณะที่เมืองใหม่ที่พัฒนาโดยรัฐจะอยู่ในพื้นที่ว่างเปล่าของรัฐ ในกรณีที่มีผู้ใช้ประโยชน์จะต้องมีการชดเชย หรือให้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงการ และได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่

Advertisement

ส่วนเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ที่เอกชนเป็นผู้พัฒนาจะกำหนดให้อยู่ในพื้นที่รัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตรจากโครงสร้างพื้นฐานหลัก เช่น สถานีรถไฟความเร็วสูง 10 สถานี สนามบินอู่ตะเภา เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี)

เตือนอย่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า สยยท.ได้ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อออกแบบการพัฒนาเมืองใหม่ครั้งที่ 4 ซึ่ง สกพอ.จัดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยภาครัฐต้องการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.ระยอง ชลบุรี และ ฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ ได้มีการรายงานความคืบหน้าการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนา ” เมืองใหม่อีอีซี อัจฉริยะน่าอยู่ ” รวมทั้งผลประโยชน์ที่ภาคประชาชนและเกษตรกรจะได้รับจากการพัฒนาอีอีซี โดยการรับฟังความเห็นครั้งที่ผ่านมามีข้อเสนอการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยมีการเสนอให้มีการนำที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาแปลงเป็นทุน

นอกจากนี้ สยยท.ได้ตั้งข้อสังเกตในการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด โดยเมื่อกำหนดเป็นเขตพัฒนาพิเศษแล้ว ขอให้ประวัติศาสตร์อย่าซ้ำรอยเหมือนกรณีการพัฒนาอีสเทิรนซีบร์อด ซึ่งก่อนเวนคืนที่ดินจากประชาชนเพื่อนำไปพัฒนาได้มีการประกาศแผนภาคการเกษตร โดยระบุถึงการสร้างโรงงานปุ๋ยเพื่อให้เกษตรกรใช้ฟรี ซึ่งเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากปิโตรเคมี แต่ปรากฎว่าต่อมาโรงงานปุ๋ยดังกล่าวได้รื้อขายเป็นเศษเหล็ก

แผนการพัฒนาอีอีซีและสิทธิพิเศษ

จี้มองผลประโยชน์คนพื้นที่

นายอุทัย กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้มีการจัดตั้ง บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก โดยครอบคลุมการใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งเกษตรกรจะต้องซื้อน้ำจากอีสวอเตอร์ ในอัตรา 13 บาท ต่อ ลูกบาศก์เมตร ถือเป็นระดับราคาเดียวกับการซื้อน้ำของภาคอุตสาหกรรม

นายอุทัย กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้มีการจัดตั้ง บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก โดยครอบคลุมการใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งเกษตรกรจะต้องซื้อน้ำจากอีสวอเตอร์ ในอัตรา 13 บาท ต่อ ลูกบาศก์เมตร ถือเป็นระดับราคาเดียวกับการซื้อน้ำของภาคอุตสาหกรรม

“การพัฒนาอีอีซีควรคำนึงประโยชน์ของภาคประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ด้วย เช่น ยางพารา โดยถ้าหากมีผู้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตล้อยางในเขตอีอีซี ก็ต้องรับซื้อยางที่ได้จากการปลูกในอีอีซี” นายอุทัย กล่าว

กังวลพื้นที่อุตฯแย่งเกษตร

นายประยูร สดใส ประธานสหกรณ์โครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำดอกกราย กล่าวว่า อีอีซีควรที่จะเว้นบางพื้นที่ปลูกต้นไม้ไว้บ้าง ไม่ใช่ปลูกอาคารหมด แม้จะเป็นเมืองอุตสาหกรรมแต่ต้นไม้มีความสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นลดมลพิษได้ด้วย
นายวัฒนา บรรเทิงสุข ประธานสหกรณ์เพื่อการแพทย์และสุขภาพ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาโครงการในพื้นที่อิสเทิร์นซีบร์อดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนระยองป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมลภาวะที่เกิดจากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และถ้าการพัฒนาอีอีซีดำเนินต่อเห็นว่าภาครัฐควรตั้งกองทุนช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา โดยเฉพาะผลกระทบด้านสุขภาพ

นางพิกุล กิติพล ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีเกษตร จ.ระยอง กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีสวนผลไม้ที่สามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตรรวม 64 แห่ง โดยในพื้นที่ จ.ระยองเป็นสวนผลไม้ปลอดภัย และในปัจุบันได้ร่วมมือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อผลักดันการทำเกษตรแบบปลอดภัย ซึ่งต้องการให้ สกพอ.มีส่วนในการสนับสนุนโครงการเหล่านี้ด้วย เพื่อให้ภาคเกษตรได้รับประโยชน์จากการพัฒนา

หนุนแปลง ส.ป.ก.เป็นทุน

รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า น.ส.พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการสายงานนโยบายและแผน สกพอ.ลงพื้นที่รับฟังความเห็นครั้งนี้ โดยมีรายงานความคืบหน้าการนำที่ดิน ส.ป.ก.ที่เกษตรกรถือครองในอีอีซี นำมาแปลงเป็นทุนในอีอีซี โดยนำที่ดิน ส.ป.ก.มาเป็นทุนร่วมกันกับฝ่ายรัฐบาลตั้งบริษัทมหาชน ซึ่งเจ้าของที่ดินจะถือหุ้นในบริษัทที่ตั้งขึ้น เป็นหุ้นตกทอดให้กับลูกหลาน โดยที่ผ่านมาชุมชนเห็นด้วนกับแนวทางดังกล่าวและมีการทำรายละเอียดเพิ่ม

นายวิณโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า การนำที่ดิน ส.ป.ก.มาแปลงสินสินทรัพย์เป็นทุนทำได้ โดยใช้ค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันไว้ โดยวงเงินกู้ขึ้นกับการประเมินของธนาคาร

ส่วนค้ำประกันเงินกู้ตามโครงการพัฒนาในอีอีซีก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งจะกระจายแหล่งเงินให้มากขึ้นและให้โครงการอีอีซีเข้ามาค้ำประกันร่วม แต่ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาและอาจจะจำกัดเฉพาะพื้นที่ ส.ป.ก.ในอีอีซีที่ทำได้

ที่มา : Bangkokbiznews.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23