Telosa City เมืองแห่งอนาคตที่จะพลิกหน้าประวัติศาสตร์การอยู่อาศัยของมนุษย์ และกลายเป็นมาตรฐานการออกแบบเมืองในอนาคต มูลค่าโดยประมาณของโครงการอยู่ที่ 4 แสนล้านดอลล่าร์ หรือเกือบ 15 ล้านล้านบาท จะตั้งอยู่ท่ามกลางทะเลทรายในสหรัฐอเมริกา ก่อนอื่นเลยต้องเท้าความถึงเจ้าของคอนเซ้ปต์การออกแบบเมืองแห่งอนาคตนี้ก่อน แนวคิดนี้เกิดขึ้นจาก Marc Lore มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นนักลงทุนและนักธุรกิจ เริ่มต้นด้วยธุรกิจสตาร์ทอัพและทำกำไลมหาศาลจากการขายบริษัท มูลค่ากว่า 3.3 พันล้านดอลลาร์และ 550 ล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นได้เข้ามานั่งเป็น CEO ของ Walmart ก่อนจะลาออกมาก่อตั้งและบริหารอีกหลายธุรกิจ Lore เป็นคนริเริ่มและแชร์วิสัยในการสร้างเมืองในฝันแห่งนี้ โดยจะใช้ชื่อกว่า Telosa (เทโลซา) เมืองแห่งการปฎิรูปทุนนิยม ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น ทุกคนเท่าเทียมกัน และไม่มีการขึ้นภาษี
สถาปัตยกรรมเมือง Telosa จะถูกออกแบบโดย Bjarke Ingels หนึ่งในสถาปนิกที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ให้มานั่งตำแหน่งประธานการออกแบบ และทีมดีไซเนอร์ BIG (Bjarke Ingels Grop) ยึดถือก็คือ ‘การสร้างเมืองที่ไม่ใช่แค่เมือง แต่เป็นเมืองที่เป็นต้นแบบของสังคมรูปแบบใหม่’
หนึ่งในแพลนที่ทีมนักออกแบบภูมิใจนำเสนอก็คือการออกแบบเมืองด้วยวิถี Garden City Movement ซึ่งเป็นไอเดียที่ได้รับการนำเสนอครั้งแรกในปี 1898 โดย อีเบเนเซอร์ ฮาวเวิร์ด (Ebenezer Howard) นักวางผังเมืองและผู้ก่อตั้งขบวนการเมืองในสวน โดยแนวคิดหลักของการวางผังเมืองแบบอุทยานนครก็คือการล้อมชุมชนด้วย ‘แถบสีเขียว’ (Green Belts – พื้นที่ป่าหรือพื้นที่ที่ปล่อยตามธรรมชาติโดยไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ) และจัดสรรปันส่วนพื้นที่เมืองให้มีประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งเป็น บริเวณที่พักอาศัย บริเวณอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรม โดยฮาวเวิร์ดได้แรงบันดาลใจในการสร้างรูปแบบการวางผังเมืองลักษณะนี้จากนวนิยายยูโทเปีย Looking Backward ซึ่งตัวอย่างของเมืองอุทยานนครที่ฮาวเวิร์ดเคยสร้างไว้ก็คือเมืองเลทช์เวิร์ธ ประเทศอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยถึง 34,000 คน โดยมีระบบการบริหารเมืองที่เงินที่ได้จากค่าเช่าอยู่อาศัยจะถูกนำกลับมาพัฒนาสาธารณูปโภคของเมืองอีกที
เทโลซา จะรองรับจำนวนประชากรได้ 5 ล้านคน โดยทุกคนในเมืองจะมีสวัสดีการและคุณภาพชีวิตที่ดีรองรับอย่างครอบคลุมทุกคน เมืองนี้ได้นำระบบ ‘รัฐสวัสดิการ’ แบบประเทศในแถบสแกนดิเนเวียร์มาประยุกต์ใช้ โดยรัฐจะเป็นคนดูแลจัดหาสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นให้ครอบคลุมประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสด้านต่าง ๆ ลดปัญหาการเกิดความไม่เท่าเทียมกัน โดยให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิการพื้นฐานของมนุษย์ 4 ด้านคือ
- การศึกษา ให้การศึกษาฟรีขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน และมีเงินอุดหนุนให้สำหรับคนที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
- การรักษาพยาบาล
- การช่วยเหลือผู้ว่างงาน และ ผู้เกษียณอายุ เช่น ประเทศเดนมาร์ก มีเงินช่วยเหลือระหว่างหางาน ให้แก่ผู้ว่างงานเป็นเวลา 2 ปี ในขณะที่ประเทศสวีเดนให้ 200 วัน รวมถึงกรณีพิการ หรือ กำพร้าด้วย
- การบริการสังคม เช่นประเทศสวีเดน ให้สิทธิ์ทั้งพ่อและแม่สามารถลางาน เพื่อดูแลลูกได้ถึง 480 วัน โดยยังได้รับค่าจ้าง
นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่ถูกวางไว้ให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองสามารถเชื่อมต่อทุกอย่างในระยะการเดินทางเพียง 15 นาที ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ทำงาน โรงเรียน และสถานที่ต่างๆ ภายในเมือง และเมืองยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน ใช้พลังงานแบบหมุนเวียน โดยรถยนต์น้ำมันจะไม่อนุญาติให้ใช้งานในเมือง สามารถใช้ได้เพียงสกู๊ตเตอร์ จักรยาน และยานพาหนะไฟฟ้าเท่านั้น ขณะที่สถานที่สำคัญ Landmarks เช่น อาคาร Equitism Tower, พิพิธภัณฑ์ และสนามกีฬา จะกระจายตัวออกไป แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ในใจกลางเมือง โดยตึก Equitism Tower จะเป็นอาคารสำคัญที่จะเป็นพื้นที่สำหรับทำเกษตรแบบแนวตั้ง หอกักเก็บน้ำ และมีหลังคาพลังงานโซลาร์เซลที่จะช่วยผลิตไฟฟ้าและกระจายไปยังตามครัวเรือนต่างๆ
ตามแผนการสร้าง ณ ปัจจุบัน ในเฟสแรกของการพัฒนา 10 – 20 ปี เมืองจะมีขนาดประมาณ 30,000 เอเคอร์ รองรับคนได้ 1 ล้านคน และจะขยายไปจนมีขนาดถึง 150,000 เอเคอร์ หรือคิดเป็นประมาณ 607 ตารางกิโลเมตร หากสร้างเสร็จสมบูรณ์ในอีก 40 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีขนาดใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของจังหวัดกรุงเทพ โดยคาดการณ์ว่าความหนาแน่นของประชากรจะอยู่ที่ 34 คนต่อหนึ่งตารางเอเคอร์ หรือเทียบเท่ากับความหนาแน่นต่อพื้นที่ของประชากรในสิงคโปร์
ผู้อยู่อาศัยสามารถซื้อบ้านหรือสร้างบ้านเองก็ได้ แต่สิทธิของพื้นที่ยังเป็นของเทโลซา ขณะที่มูลค่าของที่ดินในเมืองก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นไปตามการเติบโตของเมือง ซึ่งทรัพย์สินที่ขายได้จะกลับเข้าสู่มลนิธิเทโลซา ซึ่งจะนำไปพัฒนาศูนย์สุขภาพ โรงเรียน สวนสาธารณะ ถนน และขนส่งภายในเมืองต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีแต่อย่างใด
ภายในปี 2030 พวกเขาจะคัดเลือกผู้สมัคร 50,000 คนแรกเข้าไปอยู่ในเมือง โดยเป็นกลุ่มคนที่มีอายุ เชื้อชาติ ศาลนา และรายได้แตกต่างกันออกไป ณ วันแรกของที่นั่นมันอาจจะดูวุ่นวาย แต่หลังจากนั้นมันจะค่อยๆ เติบโตได้ด้วยตัวเอง จนสุดท้ายมันจะกลายเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ
การสร้างเมืองใหม่ในครั้งนี้ จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาล โดยจะเป็นการระดมทุนจากหลากหลายช่องทาง เช่น นักลงทุน การบริจาค ทุนรัฐบาล และเงินสนับสนุนการพัฒนาจากแหล่งต่างๆ รวมไปถึงจากเจ้าของโครงการเอง อย่างไรก็ตามความท้าทายสำหรับโปรเจ็กต์นี้มีมากมายมหาศาล และหลายนักวิเคราะห์มองว่างบประมาณในการสร้างจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ที่ตั้งไว้ และอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญของเมืองนี้ยังไม่ถูกร่างขึ้นมา เนื่องจากโมเดลทางเศรษฐกิจของเขาไม่ได้รับการพิสูจน์ ยังไม่มีใครเชื่อมั่นมากพอที่จะย้ายจากเมืองจริงๆ มาที่โครงการ Telosa แต่หากโปรเจคนี้ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าจะเป็นเมืองที่ทุกคนฝันอยากเข้ามาอยู่ และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกอย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก : https://www.theweek.co.uk/news/world-news/us/957893/telosa-utopia-desert-or-billionaire-vanity-project
https://www.smartcitiesdive.com/news/for-his-new-smart-desert-city-billionaire-marc-lore-eyes-nevada-utah-and/628483/
https://cityoftelosa.com/
https://groundcontrolth.com/blogs/263