การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ 2/2 สปอตไลน์ ยังคงฉายส่อง “ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่” ขับเน้นไปที่เก้าอี้ “รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ” ที่จะมาเป็นคู่คิด พล.อ.ประยุทธ์ เคลื่อนเศรษฐประเทศไทย
รองนายกรัฐมนตรี “ขุนพลเศรษฐกิจ” ประจำการทำเนียบรัฐบาล คนต่อไป-รับไม้ต่อจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีชื่อ “ปรีดี ดาวฉาย” เป็นว่าที่ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ควบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
งานเก่า-งานค้าง-งานขึ้นโครงเศรษฐกิจใหม่รอ “รองนายกฯ เศรษฐกิจคนใหม่” สะสาง-รับงานต่อ ภายใต้สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจากผลกระทบของมาตรการ Lock down เพื่อ Shut down การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
สานต่อนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ
การกุมบังเหียนเศรษฐกิจไทยในทุกโหมดของ “รองนายกฯ เศรษฐกิจป้ายแดง” ทั้งระยะฉุกเฉิน-ระยะเปลี่ยนผ่าน จึงหลีกเลี่ยงได้ยากต้องสานต่อนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจรากหญ้า-ชุบชีวิตคนหาเช้ากินค่ำ
โดยเฉพาะโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจรากหญ้า ภายใต้วงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ในการสร้างงาน-สร้างอาชีพ เติมเงินในกระเป๋าให้กับ “คนตกงาน” ภายหลังการคลาย Lock down เงินเยียวยา “หมดฤทธิ์”
รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งในระบบ-นอกระบบให้ได้รับความช่วยเหลือ ไม่ให้ “ตกสำรวจ” เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอียังมีช่องว่าง-รูโหว่ ทำให้เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน
โดยเฉพาะการใช้เงินภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ทุกบาททุกสตางค์
ขณะที่โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย ที่นายสมคิดทิ้ง “มรดกตกทอด” ให้ไว้ ยังรอให้ “ว่าที่ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” คนใหม่ ได้สานต่อ-ขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมให้ทั่วทุกหัวเมืองชนบท-ปลายนา เช่น สมาร์ทฟาร์มเมอร์
รวมถึงการสร้างบรรยากาศการใช้สินค้าไทย-ท่องเที่ยวไทย ที่ไม่ใช่เพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจ-แจกเงิน ผลาญงบประมาณ เป็นไฟไหม้ฟาง ก่อหนี้เต็มเพดานภาครัฐ-หนี้ท่วมหัวรายครัวเรือน
สะสางขุมทรัพย์พลังงาน
นอกเหนือไปจากการสานต่อนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว ยังมีงานสะสางนโยบายลงทุนโครงการ “บิ๊กโปรเจ็กต์” ที่เป็น ขุมทรัพย์พลังงาน – เผือกร้อน เร่งรัดการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ของปี 2563 – 2564 ให้ผลิดอกออกผล
โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงาน กว่า 200,000 ล้านบาทในปี 2563 เช่น การลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม LNG Hub การก่อสร้างท่ารับก๊าซธรรมชาติเหลว
การลงทุนพัฒนาและปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าให้พร้อมรองรับพลังงานหมุนเวียน การศึกษาความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการขายไฟฟ้าในอนาคต
การลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ ฉบับปรับปรุง ( PDP 2018 rev1)
เข็นอีอีซี-ขันน็อตพีพีพีล้านล้าน
ขณะที่นโยบายเขตพัฒนาพิเศษเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ถึงแม้จะสามารถเข็น “บิ๊กไฟว์โปรเจ็กต์” มูลค่ารวมกว่า 6 แสนล้านบาท ผ่านครม.ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ยังเหลือโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ที่ยังหา Partner ไม่ได้ ซ้ำร้าย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังต้องเผชิญกับมรสุมโควิด-19 จนต้องเข้าแผนฟื้นฟู ภายใต้ศาลล้มละลาย
และการเร่งรัดแผนส่งมอบพื้นที่-การรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ให้ทันกำหนด-ไม่ให้เสียค่าโง่ ซ้ำรอยหลายโครงการของรัฐบาลในอดีต
รวมถึงการ “ขันน็อต” นโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (โครงการ PPP) กว่า 90 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยมีกว่า 10 โครงการที่ลงทุนล่าช้า-เกียร์ว่าง
ต่อยอดโมเดลเศรษฐกิจ BCG สานฝันประยุทธ์
นับรวมถึงการ “สานฝัน” โมเดลเศรษฐกิจใหม่-เศรษฐกิจ BCG ภายใน 5 ปี มูลค่าการลงทุนกว่า 4.4 ล้านล้าน ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ปฐมเสนาบดี อว. เป็นผู้ขับเคลื่อน
นับเป็นโครงการที่พล.อ.ประยุทธ์ “ออกแรง” ผลักดัน “สุดตัว” เพื่อปลดล็อกเศรษฐกิจ 3 ประสาน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ให้ปฏิบัติได้จริง
ผ่าน 9 อรหันต์ของภาคเอกชน ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตร 2.กลุ่มอาหาร 3.กลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ 4.กลุ่มยาและวัคซีน 5.กลุ่มเครื่องมือแพทย์
6.กลุ่มท่องเที่ยว 7.กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน 8.กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 9.กลุ่มต่อยอดสินค้าเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยนวัตกรรม
เป็นงานหิน-โจทย์ยาก-เผือกร้อน รอพิสูจน์ฝีมือของ ว่าที่รองนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจคนใหม่ ในครม.ประยุทธ์ 2/2
ที่มา : www.prachachat.net