ผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อในปี 2565

1351

หนึ่งในประเด็นทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงและถูกพูดถึงกันอย่างมากที่สุดในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคือการปรับขึ้นราคาของสินค้าและบริการหลายชนิด โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการอื่นทยอยขยับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น ราคาอาหารทั่วไป เนื้อหมูแปรรูป กระทั่งเนื้อไก่ที่เป็นโปรตีนทดแทน ไปจนถึงราคาของมื้อบุฟเฟต์หรือหมูกระทะ ส่งผลให้ค่าครองชีพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

สาเหตุหลักที่ทำให้เนื้อหมูมีราคาแพงขึ้นนั้น มาจากปริมาณหมูที่หายไปจากตลาด ซึ่งคาดว่าเกิดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF (African Swine Fever) ที่แพร่ระบาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและรุกรานเข้ามาในประเทศไทยได้ในที่สุด

เนื่องด้วยระบบฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ในประเทศกว่า 90% นั้น เป็นฟาร์มแบบระบบเปิด รวมถึงยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะป้องกันหมูไม่ให้รับเชื้อ ASF จึงทำให้การแพร่ระบาดเกิดขึ้นโดยหยุดยั้งได้ยาก จากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ทำให้ปริมาณหมูที่มีในระบบลดลง ซึ่งกว่าที่เกษตรกรจะสามารถเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้เพียงพอต่อความต้องการที่มีในตลาดได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงมากกว่า 6 เดือน

แนวโน้มของราคาเนื้อหมูจึงจะยังสูงไปอีกระยะหนึ่ง จากความไม่สมดุลของตลาดหลังเศรษฐกิจเริ่มเปิด ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ แต่หมูกลับขาดตลาดและมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับลดลง เนื่องจากจะมีปริมาณเนื้อหมูมากเพียงพอต่อความต้องการในตลาดจากการเลี้ยงรอบใหม่

หลายคนอาจคิดว่าในปีนี้ภาวะเงินเฟ้อจะมาหมูแพงเป็นหลัก จากผลกระทบจากราคาเนื้อหมูที่ทำให้ราคาสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องขยับขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น เนื้อหมูคิดเป็นเพียงประมาณ 2.2% ของการคำนวณราคาในตะกร้าสินค้าของกระทรวงพาณิชย์

แต่ความเสี่ยงหลักของเงินเฟ้อในปีนี้อาจไม่ได้มาจากราคาเนื้อหมู หากแต่เป็นแรงกดดันจากทิศทางราคาพลังงานโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากคาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นของหลายประเทศที่เริ่มมีการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 รวมถึงความเสี่ยงต่อความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบมายังอัตราเงินเฟ้อไทย

ปัจจัยด้านพลังงานคิดเป็นประมาณ 12% ของตะกร้าสินค้าที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อของไทย และจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 10% จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ย 1.5% (percentage points) จากทั้งการใช้จ่ายด้านพลังงานโดยตรง และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าพื้นฐานอย่างอาหารปรุงสุก หรือค่าโดยสารหรือค่าขนส่งที่จะปรับเพิ่มขึ้นตาม

ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น จะกระทบการฟื้นตัวของการบริโภคเอกชน โดยเฉพาะต้นทุนรายจ่ายด้านพลังงานที่จะปรับเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่รายได้ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ทำให้กำลังซื้อประชาชนปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานโลกที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบมายังอัตราเงินเฟ้อไทยอย่างจำกัด เนื่องจากภาคเอกชนไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นมายังผู้บริโภคได้เต็มที่ เนื่องจากความต้องการซื้อในประเทศยังซบเซา

โดยเฉพาะในระยะนี้ที่ราคาเนื้อสัตว์และอาหารปรับเพิ่มขึ้นเร็ว ผลกระทบจากเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อยหนักกว่าโดยเปรียบเทียบ จากข้อมูลครึ่งปีแรกของปี 2564 พบว่าราคาอาหารที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังรายจ่ายของครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย (20% ที่มีรายได้ต่ำที่สุด) จะมีสัดส่วนรายจ่ายด้านอาหารอยู่ที่ 41% ของรายได้ ซึ่งสูงกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่น ๆ โดยค่าเฉลี่ยของรายจ่ายด้านอาหารของครัวเรือนทั้งหมดอยู่ที่ 32% ของรายได้ จะเห็นได้ว่าในตัวเลขเงินเฟ้อที่ทางการรายงานออกมานั้นส่งผลกระทบต่อแต่ละครัวเรือนไม่เท่ากัน

ไม่ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 จะมาจากแรงกดดันของราคาหมูหรือจากราคาด้านพลังงานมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือเรื่องหมูสำหรับผู้ออกนโยบายในการควบคุมและดูแลเงินเฟ้อ เพราะทั้งสองปัจจัยนั้นเป็นปัจจัยทางด้านอุปทาน อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในปีนี้อาจจะยังไม่หลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ก็เป็นได้ เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายในการควบคุมและดูแลราคาด้านอาหารสดและพลังงานเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

ปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายช่วยเหลือในเรื่องของราคาอาหารสดด้วยการกำหนดเพดานราคาเนื้อไก่เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนที่หันมาบริโภคไก่เป็นสินค้าทดแทน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ในระยะสั้นคือการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศเพื่อให้ปริมาณเนื้อหมูที่มีในตลาดเพียงพอต่อความต้องการซื้อในราคาที่เหมาะสม ส่วนนโยบายที่สามารถทำควบคู่ไปด้วยนั้นคือการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในระบบให้สามารถกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดหลังจากที่หยุดการนำเข้าเนื้อหมูแล้ว

ในด้านพลังงานนั้นทางภาครัฐได้มีมาตรการชะลอการเพิ่มราคาพลังงานหลายมาตรการ เช่น ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนราคาค้าปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ตรึงราคา LPG ในภาคครัวเรือนไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม อุดหนุนค่าไฟให้ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการขนส่งชะลอการขึ้นค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้า เป็นต้น

หากรัฐบาลต้องการที่จะรักษาระดับราคาพลังงานในประเทศจนถึงสิ้นปีนี้ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องทำการกู้เงินเพื่ออุดหนุนกองทุนน้ำมันเพิ่มเติม หรืออาจต้องลดภาษีสรรพสามิตลง โดยข้อจำกัดของรัฐบาลคือเรื่องของเพดานการกู้เงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่รวมถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายของภาครัฐในด้านอื่น ๆ

จะเห็นได้ว่าปัญหาเงินเฟ้อในปี 2565 นี้อาจไม่ใช่เรื่องหมูอย่างที่ทุกคนคิด

ที่มา : SCBEIC.COM

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23