ยึดต้นแบบ “อีอีซี” บูม เศรษฐกิจภาคใต้

1056
อีอีซี บูม เศรษฐกิจภาคใต้

ยึดต้นแบบ “อีอีซี” บูม เศรษฐกิจภาคใต้

สำนักวิจัยธนาคาร “ซีไอเอ็มบี ไทย” โดย นายประธาน จิวจินดา หัวหน้าส่วนวิจัยนโยบายรัฐและปัจจัยทางธุรกิจ เผยแพร่งานวิจัย “รีเสิร์ชทอล์ก” หัวข้อ เอสอีซี … ยึดต้นแบบอีอีซี บูมเศรษฐกิจใต้ เปรียบเทียบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่เป็นต้นแบบกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ที่เป็นการขยายผลไว้อย่างน่าสนใจ        

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2561 ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่รองรับการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่กัน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ ทั้งด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยในระยะแรกจะครอบคลุม 4 จังหวัด คือ จ.ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ ธานี และนครศรีธรรมราช          

ขณะที่ โครงการอีอีซีเป็นโครงการใหญ่ ทั้งในแง่ขนาดโครงการในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ถนน ระบบราง ท่าเรือ สนามบิน การเชิญชวนนักลงทุนข้ามชาติให้เข้ามาปักหลักลงทุน การนำเสนอสิทธิประโยชน์สิทธิพิเศษ การพัฒนาเมืองใหม่ และการใช้วงเงินลงทุนจำนวนมากที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โครงการอีอีซีจึงมีความหลากหลายภารกิจที่ต้องดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ เพื่อพลิกอนาคตเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้แบบก้าวกระโดด

แผนปฎิบัติการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเอสอีซี

Advertisement

อีอีซีกำลังจะเป็นต้นแบบให้เอสอีซีเดินตาม เมื่อพิจารณาจากความคล้ายคลึงกันในหลาย ๆ ด้าน

1.ภาพรวมของแผนปฏิบัติการ กล่าวคือ ตามกรอบการพัฒนาอีอีซีจะมีโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 168 โครงการ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ กรอบการพัฒนาเอสอีซีจะมีโครงการรวม 116 โครงการ วงเงิน 1.06 แสนล้านบาท

2.ประตูการค้า กล่าวคือ กำหนดให้การพัฒนาโครงการอีอีซีเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันออก (Eastern Gateway) สู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยเน้นไปที่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี รวมถึงการค้าผ่านแดนทางบกจากจีน ขณะที่ การพัฒนาโครงการเอสอีซีเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตก (Western Gateway) สู่ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย โดยเน้นไปที่กลุ่มบิมส์เทคเป็นสำคัญ

3.การพัฒนาอุตสาหกรรม อีอีซีเน้น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ต่อยอดโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ขณะที่ เอสอีซีดูความเหมาะสมของภูมิศาสตร์ในพื้นที่ เพราะภูมิประเทศของภาคใต้ส่วนใหญ่เน้นไปเรื่องประมงและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงเน้นไปที่การพัฒนาต่อยอดโดยใช้นวัตกรรม การนำวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น การนำนํ้ามันปาล์มมาสกัดวิตามินอี ผลิตฉนวนป้องกันความร้อน การพัฒนาสัตว์นํ้าเศรษฐกิจ โรงงานต้นแบบสำหรับผลิตนวัตกรรมยางพารา โดยเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) และการแปรรูปการ เกษตรมูลค่าสูง รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จะต้องชูจุดเด่นมาเป็นจุดขาย

4.การพัฒนาเมืองน่าอยู่ ถ้าเป็นอีอีซีจะเน้นเมืองน่าอยู่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ส่วนเอสอีซีจะเน้นเมืองน่าอยู่ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช          

นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คงจะไม่ได้เน้นพื้นที่อีอีซีเพียงด้านเดียว หากทว่าอีอีซีคงจะเป็นต้นแบบ หรือ เป็นโมเดลที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อช่วยกันผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน          

ในระยะปานกลางถึงระยะยาว จังหวัดทางภาคใต้ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการเอสอีซี ได้แก่ จังหวัดฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะชุมพรและสุราษฎร์ธานี จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะภูเก็ตและกระบี่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสงขลาและสตูล รวมไปถึงจังหวัดทางภาคตะวันตก ได้แก่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์          

สำหรับประเด็นท้าทาย คือ นักท่องเที่ยวยังกระจุกตัวอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวหมู่เกาะและชายหาดหลัก เช่น ภูเก็ต กระบี่ สมุย พะงัน เกาะเต่า พีพี หลีเป๊ะ เป็นต้น แต่ขาดการเชื่อมโยงกับแหล่งชุมชน เพื่อให้พืชเศรษฐกิจหลัก อาทิ ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน เกิดการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น หากสนับสนุนโครงการท้องถิ่นที่เป็น Winning Project เช่น โครงการของดีชุมชน เทศกาลอาหารอร่อย เพื่อยกระดับการผลิตสินค้า ตลอดจนทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบรรยากาศและวัฒนธรรมท้องถิ่น ก็จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและมีผลต่อการขับเคลื่อนกำลังซื้อด้วย  

ที่มา : thansettakij.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23