อีอีซียุคไทยแลนด์ 4.0 จากการพัฒนาอุตสาหกรรม ต่อยอดสู่สมาร์ทซิตี้

1010

อีอีซีผลักดันไทยแลนด์ 4.0 แบบก้าวกระโดด
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการอีอีซีเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันไทยแลนด์ 4.0 แบบก้าวกระโดด ดังนั้นบทบาทสำคัญของอีอีซีคือการเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักลงทุนทุกมุมโลกให้กลับมาไทยอีกครั้ง เช่นเดียวกับความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เคยทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวถึง 8% มาแล้วในอดีต

ทั้งนี้ อีอีซียังเป็นจุดเริ่มการลงทุนของการสร้างสิ่งใหม่ และปรับเปลี่ยนประเทศ ที่ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการสร้างเมือง ชุมชนเมือง เมืองใหม่ ยกระดับคุณภาพเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นที่เป็นสากล สร้างรากฐานความเจริญใหม่ให้กับพื้นที่และประเทศ

เฟสแรกพัฒนา 4 โครงการหลัก
ในระยะแรก ซึ่งเป็นการดำเนินงานระหว่างปี 2560-2564 ถือเป็นช่วงเตรียมการ 4 โครงการหลัก คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง การก่อตั้งศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยาน และการพัฒนาศักยภาพท่าเรือ 2 แห่ง คือ มาบตาพุดและแหลมฉบัง รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางนวัตกรรม 2 แห่ง คือ อีอีซีไอ พัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และศูนย์อีอีซีดี จะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิตอลเทคโนโลยี

นอกจากการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ยังตั้งเป้าส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 10.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

Advertisement

อีอีซีเอื้อตลาดอสังหาฯ ต่อยอดสู่สมาร์ทซิตี้
นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า การส่งเสริมเกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 นั้น คิดว่านโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการอีอีซีโดยมี 10 อุสาหกรรมในการส่งเสริมและเป็นหัวหอกของการพัฒนา ถือเป็นนโยบายที่ดีที่ช่วยสร้างความชัดเจนต่อนักลงทุนทั่วโลก ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ควบคู่ไปด้วย จากงบประมาณจำนวนมหาศาลในเฟสแรก 1.5 ล้านล้านบาท ที่จะมุ่งพัฒนาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างโรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย ตลอดจนมหาวิทยาลัย โดยวางรูปแบบให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่ดีทั้งสิ้น

ด้าน ดร.สืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร วิจิตรากรุ๊ป หนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภาคตะวันออก เปิดเผยว่า 3 ปีที่ผ่านมา วิจิตรากรุ๊ปได้รับอานิสงส์จากนโยบายการพัฒนาอีอีซี ซึ่งปีนี้นโยบายดังกล่าวมีความชัดเจนเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ อาทิ มอเตอร์เวย์ ท่าเรือแหลงฉบัง-นครราชสีมา รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ชลบุรี-ระยอง ซึ่งจะมี 5 สถานี ได้แก่ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน และส่งผลให้เศรษฐกิจภาคตะวันออกมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะมีการพัฒนาเป็นเมืองใหม่ รองรับคนจากกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง จึงมีการเติบโตและการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ภาคตะวันออกมีการเติบโตเป็นเท่าตัว และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ที่มา : ddproperty

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23