อัพเดทความคืบหน้ารถไฟฟ้ากทม-ปริมณฑล

13793
อัพเดทรถไฟฟ้ากทม
อัพเดทความคืบหน้ารถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล

แผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีรถไฟฟ้าครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ – ปริมณฑล จะช่วยสร้างความสะดวกสบายและแก้ปัญหารถติด รวมทั้งนำความเจริญเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างส่วนต่อขยายและโครงการที่เปิดให้บริการแล้วในปีนี้ และรวมไปถึงโครงการที่จะเปิดให้บริการในอนาคต

สายสีเขียวเข้ม

เริ่มด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสำโรง – เคหะสมุทรปราการ เป็นส่วนต่อขยายจากช่วงหมอชิต – แบริ่งที่ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายหลักของกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้ เนื่องจากวิ่งเข้าสู่หัวเมืองชั้นใน ผ่านย่านธุรกิจต่างๆ โดยส่วนต่อขยายสำโรง-เคหะสมุทรปราการเปิดบริการแล้วในปัจจุบัน เป็นแบบยกระดับตลอดเส้นทางระยะทางรวม 13 กิโลเมตร 9 สถานี บริเวณสถานีเคหะสมุทรปราการ ริมถนนสุขุมวิท

ยังมีอาคารจอดรถ เนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ สามารถจอดรถได้ประมาณ 1,200 คัน และในอนาคตยังมีส่วนต่อขยายจากสถานีเคหะฯสมุทรปราการไปจนถึงสถานีบางปู ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2565

สายสีเขียวใต้

Advertisement

นอกจากนี้มีช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยดำเนินการสร้างส่วนต่อขยายมาจากสถานีหมอชิต ไปบรรจบกับห้าแยกลาดพร้าว บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลที่ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินสถานีพหลโยธิน และไปสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง (สถานีคูคต) เส้นทางการก่อสร้างระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร 16 สถานี เป็นทางวิ่งยกระดับตลอดเส้นทาง สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 50,000 คน

โดยจะเปิดให้บริการสถานีหมอชิด – ห้าแยกลาดพร้าวในเดือน สิงหาคม 2562 และ ในเดือนธันวาคม 2562 จะเปิดต่ออีก 4 สถานี ไปถึงสถานีแยกเกษตร

ปัจจุบันมีความคืบหน้ามากกว่า 70 % แล้ว โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2563



สายสีเขียวอ่อน

รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนเสริมความแข็งแกร่งทำเลย่านฝั่งธนบุรีมากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างส่วนต่อขยายจากสถานีบางหว้า ไปจนถึงตลิ่งชัน รวมทั้งหมด 6 สถานี ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร ซึ่งสถานีบางหว้า กำลังจะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินช่วง หัวลำโพง – ท่าพระ – หลักสอง ( คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2563 )

สายสีน้ำเงิน

เส้นทางสายสีน้ำเงินมีโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายทั้งเส้นทางใต้ดินและยกระดับ จากสถานีเตาปูน ไปยังถนนจรัญสนิทวงศ์ จนถึงแยกท่าพระ และจากสถานีหัวลำโพง ไปยังท่าพระและบางแค ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางจะเชื่อมต่อกันที่ สถานีท่าพระ ก่อให้เกิดเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าวงแหวน โดยช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง จะเปิดให้บริการเร็วกว่าแผน 1 – 2 เดือนจากเดิมเปิดเดือน กันยายนในปี 2562

ซึ่งจะเปิดทดลองใช้ก่อนเดือน มิถุนายน 2562และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จะเปิดให้บริการตามกำหนดเดือนเมษายนในปี 2563 รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 9,000 คนต่อวัน

อัพเดตความคืบหน้าไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล


สายสีทอง

เส้นทางรถไฟฟ้าฝั่งธนบุรีสายสีทอง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เฟสแรกเริ่มต้นจากสถานีกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน มุ่งไปตามแนวนถนนกรุงธนบุรีเข้าสู่ถนนเจริญนคร ระยะทาง 1.7 ก.ม. ไปสิ้นสุดที่สถานีคลองสาน ส่วนเฟส 2 จะเริ่มจากสถานีคลองสาน ไปสิ้นสุดที่สถานีประชาธิปก ระยะทาง 0.9 ก.ม.

ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 47,000 คนต่อวัน อีกทั้งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง

สายสีชมพู

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นที่สี่แยกแคราย วิ่งตามแนวถนนสายหลักถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ และรามอินทรา ไปสิ้นสุดที่เขตมีนบุรี ซึ่งมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) รถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางกะปิ-มีนบุรี) รวมทั้งสิ้น 30 สถานี  คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564

สายสีแดงเข้ม-แดงอ่อน

โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี ความคืบหน้าโครงการภาพรวมดำเนินการไปแล้วประมาณ 98 %  อาจมีการทดลองวิ่งและตรวจสอบก่อนเปิดให้บริการจริงในปี  2564 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300,000 คนต่อวัน

นอกจากนี้ยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย- มีนบุรี), รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง) และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง)

นอกจากนี้ยังจะมีส่วนต่อขยายจากสถานีรังสิตไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะทางประมาณ 8.8 กิโลเมตร ประกอบด้วยกัน 4 สถานี ได้แก่ สถานีคลองหนึ่ง สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถานีเชียงราก และสถานีธรรมศาสตร์ โดยมีแผนจะเปิดให้บริการภายในปี 2565

รถไฟฟ้าสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เชื่อมโยงฝั่งพระนครและธนบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนสถานีตลิ่งชัน มีจำนวน 3 สถานี ระยะทาง 15 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2564 โดยยังมีส่วนต่อขยาย 2 โครงการ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ที่ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปี 2565

สายสีเหลือง

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มที่สถานีสำโรง สร้างไปตามแนวถนนเทพารักษ์ และตัดเข้าถนนศรีนครินทร์ ขยายไปจนถึงถนนลาดพร้าว โดยสิ้นสุดสถานีรัชดา ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564


สายสีส้ม

ในเฟส 1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นช่วงศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์ ประกอบไปด้วย 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 7 สถานีและสถานียกระดับ 10 สถานี ระยะทาง 22 กิโลเมตร โดยจะผ่านจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ เช่น สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง), สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (ศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 อีกทั้งในอนาคตจะมีการสร้างส่วนต่อขยายไปจนถึงสถานีตลิ่งชัน

สายสีเทา

รถไฟฟ้าสายสีเทา แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 วัชรพล-ทองหล่อ ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร จำนวน 15 สถานี โดยมีจุดเชื่อมต่อ Interchange 4 สถานี 1. สายสีชมพูที่สถานีวัชรพล 2.สายสีเหลืองที่สถานีฉลองรัช 3.สายสีส้มที่สถานีพระราม 9 4.สายสีเขียวเข้มที่สถานีทองหล่อ คาดว่าหากโครงการแล้วเสร็จจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 250,000 คนต่อวัน เนื่องจากย่านนี้มีอัตราการอยู่อาศัยที่หนาแน่น

ช่วงที่ 2 พระโขนง-พระราม 3 มี 16 สถานี โดยเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีพระราม 4 และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนที่สถานีนนทรี คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 300,000 คนต่อวัน

และช่วงที่ 3 พระราม 3 – ท่าพระ มีจำนวน 8 สถานี โดยจะเป็นเส้นทางที่ทับซ้อนกับรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ BRT ที่จะถูกยกเลิก

รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้)

สายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายจากเดิม บางซื่อ – บางใหญ่  เริ่มจากสถานีเตาปูน ไปสิ้นสุดที่สถานีครุใน รวมระยะทาง 23.6 กิโลเมตร โดยเป็นโครงการสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กิโลเมตร รวม 17 สถานี โดยมีกำหนดเริ่มการก่อสร้างในเดือน ธันวาคม 2562 นี้

รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล จากแคราย – ลำสาลี ระยะประมาณ 22 กิโลเมตร โดยจะเชื่อมต่อเมืองด้านฝั่งแครายไปสู่ฝั่งบางกระปิ และสามารถเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าหลักอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม รถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีส้ม อีกทั้งยังเชื่อมกับโครงข่ายรองอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสีเทา โดยมีสถานีทั้งหมด 17 สถานี

ในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสม โดยขั้นตอนต่อไปจะเสนอมติ ครม. พิจารณาและจัดทำ EIA และคาดว่าจะเปิดประมูลโครงการได้เร็วที่สุดปลายปี 2562

รถไฟฟ้ารางเบา กลางกรุงเทพฯ

แผนพัฒนาขนส่งมวลชนระบบรอง 10 เส้นทาง มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยนำร่องเส้นทาง ราชประสงค์-จุฬาฯ พระราม 4  เพื่อบรรเทาการจราจรบนเส้นทางหลักในกรุงเทพฯ และอำนวยความสะดวกให้กับเส้นทางรองซึ่งรถไฟฟ้าสายหลักเข้าไม่ถึง

โดยลักษณะของรถไฟฟ้ารางเบา จะขนาดเล็กกว่าบีทีเอสประมาณครึ่งเมตร ก่อสร้างวางรางบนผิวถนนเดิม จุดเริ่มต้นอยู่แยกราชประสงค์ ผ่านเพชรบุรี ประตูน้ำ และเข้าถึงฝั่งถนนพญาไท ผ่านมาบุณครอง เป็นวงรอบย่านธุรกิจหลัก

อีกเส้นทางหนึ่งในการนำร่องพัฒนาคือเส้นราชดำริ วิ่งวนเป็นวงรอบผ่านประตูน้ำ มักกะสัน ซอยนานา จากนั้นวิ่งไปตามถนนสุขุมวิท แยกลีลมและวิ่งกลับเข้าถนนราชดำริ หลังจากนั้นเส้นอนุสาวรีย์-ราชวิถี เริ่มจากอนุสาวรีย์ชัย ไปยังถนนราชวิถี และวนกลับมาที่อนุสาวรีย์ชัยอีกครั้ง เพื่อขนส่งเข้ามาเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายหลัก โดยคาดว่าสามารถขนส่งผู้โดยสารได้เที่ยวละประมาณ 300 คนต่อเที่ยว (3 ตู้)

(ข้อมูลรถไฟฟ้ารางเบา อ้างอิงจาก : ฐานเศรษฐกิจ)

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23