3 จังหวัดอีอีซีตีปีก กฎหมายใหม่ปลดล็อกอสังหาฯ เปิดทางต่างชาติถือครองโฉดนดที่ดิน ถือกรรมสิทธิ์คอนโดฯ ได้เต็ม 100% แลนด์ลอร์ดไทย-เทศ เฮลั่น รัฐเปิดให้ยื่นจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแจกสิทธิประโยชน์เพียบ ทุนจีนเคลื่อนไหวคึกเบียดญี่ปุ่นลงทุนอีอีซี ฟันธง 4 โซนในรัศมี 60 กม.จากดิจิตอลปาร์คทำเลดาวรุ่ง “โจนส์ แลง ลาซาลล์” ชี้นิคมอุตฯ-โลจิสติกส์โตพรวด “ที่อยู่อาศัย โรงแรม รีเทล ออฟฟิศ” จี้ติด
แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ และล่าสุด พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 พ.ค. 2561 นอกจากจะเพิ่มความเชื่อมั่น ทำให้นักธุรกิจนักลงทุนทั้งไทย ต่างชาติตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมแล้ว กฎหมายใหม่ฉบับนี้ยังเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจการค้า การบริการ อีกหลากหลายสาขา โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หลัง พ.ร.บ.ดังกล่าวบังคับใช้ เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของทุนอสังหาฯทั้งไทย ต่างชาติมากขึ้น ทั้งสอบถามจากโบรกเกอร์ ตัวแทนนายหน้าอสังหาฯ บริษัทที่ปรึกษา เตรียมหาซื้อที่ดินรองรับการลงทุน
โดย พ.ร.บ.EEC กำหนดให้คนต่างด้าวและนิติบุคคลต่างด้าวในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ได้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาฯ ดังนี้ 1.ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมฯ เพื่อประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน
2.ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับการยกเว้นจากการจำกัดสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
จากปัจจุบันต่างด้าวสามารถได้มาซึ่งที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และต้องนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ส่วนการถือกรรมสิทธิ์ห้องชุด กฎหมายให้คนต่างด้าวถือครองห้องชุดได้ไม่เกิน 49% ของเนื้อที่ห้องชุดในอาคารชุด
อย่างไรก็ตาม การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน อสังหาฯ และห้องชุดดังกล่าว หากไม่ได้มีการประกอบกิจการภายใน 3 ปี หรือหยุดประกอบกิจการ ต้องจำหน่ายที่ดินออกไปภายใน 1 ปี มิฉะนั้นสำนักงาน EEC มีอำนาจให้มีการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวได้
กฎหมายใหม่ยังกำหนดให้การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดิน หรืออสังหาฯ ในเขตส่งเสริมฯ เพื่อลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภท ได้แก่ 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแปรรูปอาหาร 6.หุ่นยนต์ 7.การบินและโลจิสติกส์ 8.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.ดิจิทัล 10.การแพทย์และสุขภาพครบวงจร ทำได้โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ ปล.แพ่งและพาณิชย์ ที่ให้ทำสัญญาเช่าได้ไม่เกิน 30 ปี ต่ออายุสัญญาเช่าได้ไม่เกิน 30 ปี ยกเว้นไม่ต้องทำตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ที่ให้เช่าเกินกว่า 30 ปี แต่ต้องไม่เกิน 50 ปี ต่อสัญญาเช่าได้ไม่เกิน 50 ปี
ส่วนกรณีเช่าที่ดินของรัฐ ถือว่าการเช่า เช่าช่วง ให้เช่า ให้เช่าช่วง ไม่เป็นการร่วมทุนตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เว้นแต่บอร์ด EEC จะมีมติให้เป็นการร่วมทุนเป็นรายกรณี
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ