ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลกระทบรุนแรง แบบไม่ทันตั้งตัว จากมหันตภัยร้ายไวรัส “โคโรนา-19” หลังจาก ปีที่ผ่านมาต่างประสบกับปัจจัยลบ หลายตัวแปร ทั้งลูกค้าต่างชาติ อย่างจีน หายไปจากตลาด
แม้ปีที่ผ่านมา จะมียอดการโอนกรรมสิทธิ์ กว่า 5 หมื่นล้านบาทของชาวต่างชาติหากเทียบจากปี 2561 ตัวเลข ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุยอดโอนกรรมสิทธิ์ สูงถึง 9 หมื่นล้านบาท สำหรับลูกค้าชาวจีนปีนี้เชื่อว่า น่าจะลดน้อยลง
ขณะการตั้งรับของดีเวลอปเปอร์ทั้งค่ายใหญ่ยันภูมิภาคเลิกพึ่งพาลูกค้าต่างชาติ หันระบายสต็อกสินค้าในมือและชะลอเปิดตัวโครงการใหม่
มหกรรมลดแลกแจกแถมลดราคาหาหนทางเร่งโอน ให้ผ่านไตรมาสแรก และ ก้าวสู่ไตรมาส 2 อย่าง บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)หรือค่ายเสนา ผ่อน 0 บาท นาน 6 เดือน เช่นเดียวกับบมจ.อนันดานำโครงการคอนโดมิเนียมทำเลพหลโยธิน 34 ออกแคมเปญผ่อนดาวน์ช่วยลูกค้าครึ่งหนึ่งของ จำนวนค่างวด ด้าน บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ ยอมรับว่า หากพ้นช่วงวิกฤติ เชื้อโรคนี้ไปได้ ผู้ประกอบการต้องปรับกระบวนยุทธ์กันใหม่ ทั้งรูปแบบการขาย การเจาะกลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นไปด้านดิจิทัลมากขึ้น ขณะปัจจุบัน ต้องระบายการขาย ให้มากที่สุด เพื่อให้ตัวเลขผลประกอบการไตรมาสแรกออกมาสวยงาม แม้ว่าจะได้รับผลกระทบก็ตามไม่ต่างจาก ค่ายพฤกษา
นาย ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท-แวลู ที่ยอมรับว่า ไวรัสโคโรนา กระทุบธุรกิจอสังหาฯค่อนข้างมาก ส่งผลให้โครงการต่างๆ ต้องถูกชะลอออกไปอย่าง โครงการย่านบางกะปิที่เคยวางแผน ขึ้นโครงการ จำนวน 2,000 หน่วย ในปลายปีนี้ ต้องขยับออกไปไม่มีกำหนด พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายตามไซซ์งาน รักษาสภาพคล่องไว้ในมือให้มากที่สุด จ้างผู้รับเหมาช่วงเป็นรายโปรเจ็กต์ มากกว่าลงทุนเอง
เช่นเดียวกับ ดีเวลอปเปอร์ นครราชสีมาได้รับผลกระทบไม่ต่างจากกรุงเทพและปริมณฑล นายกฤช หิรัญกิจ ประธานที่ปรึกษาสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ได้ปรับตัวมาก่อนล่วงหน้า จาก ปรมาจารย์ ในแวดวงธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์และ ด้านการเมือง แนะนำ ว่า ในปีนี้ปีหน้ายังไม่ควรเปิดโครงการใหม่ เนื่องจาก สถานการณ์ในภาพรวมยังไม่ดีนัก ส่งผลให้ บริษัทรอด พ้นจากวิกฤติในครั้งนี้ เมื่อ โคโรน่า เขย่าซ้ำ ยิ่งเพิ่มความชัดเจนอย่างมาก ถึงเหตุผลที่กูรูอสังหาฯท่านนั้นเตือน ทั้งๆที่ โครงการคอนโดมิเนียม ในเฟสที่สอง ทำเลเดอะมอลล์ ถูกออกแบบ วางแผนไว้ เรียบร้อยแล้ว จำเป็นต้องพับออกไป ทำให้เหลือเพียงโครงการเดียว ในทำเลเดียวกัน และปิดการขายทั้ง 130 หน่วยไปเมื่อปีที่ผ่านมา
ขณะโครงการอื่น ทำเล เยื้องเซ็นทรัลโคราช ลดราคาขาย จาก 1.4ล้านบาทต่อหน่วยเหลือเพียง 9.9แสนบาท ต่อหน่วย และ อีกทำเลใกล้ เทอมินัล21 ลดราคา2แสนบาท เพื่อให้ ลูกค้าเงินเย็นมาซื้อ แลกกับการ ยืนต้นตายจากการแบกดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ ไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลอย่างมากต่อทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คำถามที่อยู่ในใจของเรา คือ “แล้วภาคอสังหาริมทรัพย์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร”
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคาร สงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ วิเคราะห์ว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ไม่มีใครทราบคำตอบที่แน่นอน แต่ในเบื้องต้นลองมาพิจารณาข้อมูลล่าสุดของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์กัน เนื่องจากจะเป็นโจทย์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนภาคอสังหา ริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยในปีนี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัย 26 จังหวัดหลักทั่วประเทศโดยรวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของศูนย์ข้อมูล พบว่า
นับตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ตลาดที่อยู่อาศัย มียอดขายที่ลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 รวมถึงการดูดซับ ลดลงเหลือ 2.54% จาก 4.11% ในปี 2561
สะท้อนว่า สถานการณ์การขายช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมามีการชะลอตัวที่ชัดเจน หลังจากที่มีการใช้มาตรการ “แอลทีวี” ของธนาคารแห่งประเทศไทย กำกับดูแลสถาบันการเงินด้านระบบเศรษฐกิจ (Macroprudential) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นต้นมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ก็มีภาวะที่ชะลอตัวเช่นกันส่งผลให้สถาบันการเงินมีการเข้มงวดการพิจารณาการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ขณะ ที่อยู่อาศัยเหลือขาย มีมากถึง 3แสนหน่วย สะสมข้ามมาในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการจะชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ แต่ความยากลำบาก ย่อมมีมากขึ้น จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนาหรือ โควิด-19
ที่มา : www.thansettakij.com