ผู้ตรวจการแผ่นดิน หวั่นสถานีรถไฟฟ้ากลางบางซื่อ แหล่งวิกฤตจราจรแห่งใหม่ของคนเมือง
พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 และคณะ ลงพื้นที่โครงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ชี้อนาคตปัญหาการจราจรโดยรอบวิกฤตแน่ เร่งระดมหน่วยงานร่วมกันพิจารณาหามาตรการรองรับเพื่อเยียวยาประชาชน ย้ำสร้างความพร้อมให้สอดคล้องสภาพการจราจรก่อนเปิดให้บริการต้นปี 2564
พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาครัฐได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธิน โดยจะมีโครงการสถานีกลางบางซื่อซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่บนเนื้อที่กว่า 795 ไร่ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทั้งรถไฟทางไกล (Inter-City Train) รถไฟชานเมือง (Commuter Train Red Line) รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) รถไฟความเร็วสูง และเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญ คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รวมถึงโครงข่ายถนนและทางพิเศษที่สำคัญ ได้แก่ ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลเวย์ ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธิน ซึ่งสถานีกลางบางซื่อมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 สามารถเปิดให้บริการภายในต้นปี 2564 ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาและคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีปริมาณผู้มาใช้บริการโดยรอบโครงการในแต่ละวันกว่า 650,000 คน และต่อไปจะพัฒนาพื้นที่ภายในให้เป็นคอมเพล็กซิตี้ เช่น สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัย และพื้นที่นันทนาการ
ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเล็งเห็นแล้วว่าอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้เส้นทางการจราจรทั้งการเข้า – ออก และการจราจรโดยรอบสถานีอย่างแน่นอน หากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่มีแผนงานรองรับที่ดีพอเพื่อจัดระบบการจราจรภายในโครงการและภายนอกโดยรอบโครงการ รวมทั้งการจัดระบบขนส่งมวลชนและพื้นที่จอดรถให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการ
พลเอกวิทวัส กล่าวต่อว่า ในวันนี้จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในโครงการสถานีกลางบางซื่อที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมทั้งประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรุงเทพมหานคร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อทุกฝ่ายจะได้บูรณาการวางแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ 1) การดำเนินการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งมีแผนจะย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต) จตุจักร ไปที่ศูนย์ฯ รังสิต ซึ่งยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับแผนงานและห้วงเวลา จึงขอให้ บขส. กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดทำแผนงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2) โครงการก่อสร้างขยายถนนและสะพาน ซึ่งตามแผนงานจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย โดยมีข้อเท็จจริงว่าอยู่ระหว่างของบประมาณเงินอุดหนุนปี 2563 และโครงการขยายถนนและสะพานอีก 5 โครงการ ซึ่งยังไม่ได้มีการออกแบบรายละเอียด โดยมีข้อเท็จจริงจะดำเนินการภายหลังจากโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกายแล้วเสร็จ โครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่จะช่วยลดปัญหาผลกระทบด้านการจราจร แต่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จและไม่สอดรับกับการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อในต้นปี 2564 จึงขอให้กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม สนข. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กองบังคับการตำรวจจราจร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการร่วมกันจัดทำแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน เพื่อนำไปสู่การก่อสร้างให้ทันกับการเปิดใช้งานโครงการสถานีกลางบางซื่อ
3) โครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของพื้นที่เขตเมืองในกรุงเทพมหานครที่ทำให้โครงข่ายถนนและทางพิเศษสามารถเชื่อมโยงได้อย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นการลดความแออัด และคับคั่งของปริมาณการจราจรในเขตเมือง จึงขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม สนข. กองบังคับการตำรวจจราจร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนอำนวยการจราจรบริเวณทางขึ้น-ลงของหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ เช่น ด่านประชาชื่น ด่านจตุจักร ด่านพระราม 6 ซึ่งปัจจุบันมีสภาพการจราจรที่แออัด โดยด่านผ่านทางพิเศษดังกล่าวจะมีความเชื่อมโยงกับโครงการสถานีกลางบางซื่อ
หากไม่มีแผนการรองรับที่ดีพอจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเส้นทางการจราจรโดยรอบ โดยขอให้จัดทำแผนดังกล่าวภายใน 90 วัน และ จัดทำแผนดำเนินการทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานคร ภายใน 90 วัน และเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทันกับการเปิดใช้งานโครงการสถานีกลางบางซื่อ
4) ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับสถานที่จอดรถของผู้มาใช้บริการสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้นำรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก จากข้อมูลที่ปรากฏในเบื้องต้นสถานที่จอดรถอาจจะไม่เพียงพอต่อผู้มาใช้บริการที่อาจจะมีจำนวนมากกว่าจำนวนที่ได้จากการศึกษาของ สนข. จึงควรมีการจัดทำแผนการรองรับปัญหาดังกล่าว
5) ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (BRT) ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565 ซึ่งจะล่าช้ากว่าการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อและจะทำให้ผู้มาใช้บริการไม่ได้รับความสะดวก จึงขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดดำเนินการจัดทำระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (BRT) ให้แล้วเสร็จทันกับการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อหรือหากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ให้จัดหามาตรการรองรับในเบื้องต้นเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้มาใช้บริการ
และ 6) การให้บริการระบบขนส่งมวลชน ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพร่วมกันจัดทำแผนเชื่อมโยงการให้บริการจุดรับส่งระหว่างรถประจำทางและระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (BRT) และจัดการเดินรถให้เพียงพอกับปริมาณผู้ใช้บริการ
“ปัญหาจราจรในปัจจุบันนั้นวิกฤตมากพอควรอยู่แล้ว หากสถานีกลางบางซื่อซึ่งเป็นศูนย์คมนาคมขนาดใหญ่เปิดใช้บริการในต้นปี 2564 จะมีจำนวนประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติมาใช้บริการจำนวนมาก ประกอบกับปริมาณการจราจรโดยรอบสถานีขนส่งหมอชิต ทางด่วนกรุงเทพฯ ช่วงนี้ทั้งขาเข้า-ขาออกก็มีความคับคั่งทั้งวันอยู่แล้ว การเตรียมการก่อสร้างถนนและเส้นทาง-เข้าออกสถานีกลางบางซื่อและลงมือก่อสร้างให้ทันกัน
จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่เพียงแต่เป็นแผนงานในกระดาษเท่านั้น เพราะการจราจรรถติดในเมืองหลวงของประเทศจะเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมและอาจทำให้สูญเสียความเป็นเมืองน่าอยู่ ของกรุงเทพมหานครในที่สุด” พลเอก วิทวัส กล่าว
ที่มา : www.bangkokbiznews.com