วิกฤต รัสเซีย-ยูเครน กำลังเกิดขึ้น แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่เพราะเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินเชื่อมโยงถึงกัน อย่างที่การระบาดของ COVID-19 ได้แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่ด้านหนึ่งของโลกสามารถทำให้เกิดแรงกระแทกในอีกด้านหนึ่งได้ ดังนั้นไปดูกันว่าผลกระทบที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนเกือบทั่วทั้งโลกมีอะไรบ้าง
ราคาน้ำมัน–ก๊าซธรรมชาติพุ่ง
เนื่องจากรัสเซียเป็นมหาอำนาจด้านพลังงาน โดยผลิตได้ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปริมาณดังกล่าวมากกว่าที่อิรักและแคนาดาผลิตได้รวมกันเสียอีก ดังนั้น เมื่อ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ส่งทหารเข้าไปในยูเครน ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วนี่เป็นการประกาศสงคราม
ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 4.73% สู่ระดับ 96.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้น 4.69% ที่ 101.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ผ่านระดับ 100 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2014 และแม้จะยังไม่มีความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันก็พุ่งสูงขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากกลุ่ม OPEC+ ยืนยันจะรักษาระดับการผลิตน้ำมันไว้ แต่พอเกิดสถานการณ์ดังกล่าวก็ยิ่งส่งผลต่อราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ JPMorgan เตือนว่า หากกระแสน้ำมันของรัสเซียหยุดชะงักจากวิกฤตดังกล่าว ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นไปที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในกรณีที่การส่งออกน้ำมันของรัสเซียลดลงครึ่งหนึ่ง ราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเลยทีเดียว
เกิดภาวะเงินเฟ้อ
วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อแย่ขึ้นไปอีก เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลไปถึงค่าใช้จ่ายภายในบ้านเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ก็จะมี ‘ต้นทุน’ ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอีกทอดหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้น
นอกเหนือจากกลุ่มพลังงานแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ อาจประสบกับความผันผวนของราคา เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตโลหะรายใหญ่ อาทิ แร่แพลเลเดียม แพลตตินัม และนิกเกิล ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตไมโครชิป ซึ่งอาจทำให้ราคารถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับราคาขึ้น อีกทั้ง รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออก ข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดด้วย ในขณะที่ยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดรายใหญ่ที่สุด ดังนั้น เป็นได้ที่ข้าวของจะแพงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อน่าจะมากขึ้นสำหรับชาวยุโรป เนื่องจากอยู่ใกล้กับวิกฤตและการพึ่งพาพลังงานของรัสเซีย ขณะที่สหรัฐฯ เองปัญหาเงินเฟ้อถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญอยู่ โดยอัตราเงินเฟ้อแบบปีต่อปีอาจจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 10% จากปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น 7.5% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของอเมริกาไม่เคยเพิ่มขึ้นถึง 10% ตั้งแต่ปี 1981
ความปั่นป่วนของตลาดหุ้น
เห็นได้ชัดว่าการบุกโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบได้กระตุ้นให้เกิดการเทขายหุ้นอย่างโกลาหล เนื่องจากนักลงทุนเห็นความเป็นไปได้ที่น้ำมันจะแพงขึ้น เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และมาตรการการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งได้ส่งผลให้ตลาดอาจอยู่ในภาวะตกต่ำเป็นเวลานานจนอาจทำให้ความมั่งคั่งในตลาดหุ้นและในบัญชีเกษียณอายุหายไปหมดสิ้น และความไม่แน่นอนของตลาดอาจสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและธุรกิจได้เช่นกัน
และเมื่อหลังจากมีข่าวการโจมตียูเครนของรัสเซีย ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงอย่างรุนแรง โดย
- ตลาดหุ้นไทย SET ร่วงลงแล้วกว่า 27 จุด มาอยู่ที่ 1669 จุด
- ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ร่วงลงกว่า 464.85 มาอยู่ที่ 33,131.76
- ค่าเงินรูเบิลรัสเซีย (USD/RUB) อ่อนค่าลงอยู่ที่ 84.075 รูเบิลต่อดอลลาร์ ถือว่าลดลงมากสุดนับตั้งแต่ปี 2016
- ด้านสกุลเงินดิจิทัลถูกเทขายอย่างรุนแรง Bitcoin ลดลงมาอยู่ที่ 35,034 ดอลลาร์
- Ethereum ลดลงมาอยู่ที่ 2,350 ดอลลาร์
- ทองคำ ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดพุ่งทะยานทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ +1,950.10 ดอลลาร์
การโจมตีทางไซเบอร์และอื่น ๆ
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เตือนเมื่อวันอังคารถึงความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะโจมตีผ่านโลกไซเบอร์ ตัวอย่างคือ การแฮกระบบโคโลเนียลไปป์ไลน์ ในปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่าการโจมตีทางไซเบอร์สามารถก่อกวนโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างรุนแรง โดยการแฮกดังกล่าวได้ปิดท่อส่งก๊าซที่สำคัญที่สุดสายหนึ่งในอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีในระบบการเงินอีกด้วย
“หากรัสเซียโจมตีสหรัฐอเมริกาหรือพันธมิตรด้วยวิธีการที่ไม่สมดุล เช่น การโจมตีทางไซเบอร์กับบริษัทของเราหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เราก็พร้อมที่จะตอบโต้” ไบเดน กล่าว
การโจมตีทางไซเบอร์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนสามารถลุกลามไปสู่ชีวิตประจำวันได้อย่างไร
“สงครามวิวัฒนาการไปในทางที่คาดเดาไม่ได้ ดังนั้น ไม่มีใครควรทึกทักเอาเองว่าพวกเขาสามารถเห็นผลกระทบทั้งหมดของสงครามตั้งแต่เริ่มต้น” Kelly แห่ง JPMorgan กล่าว
ที่มา : positioningmag.com