สนช.ไฟเขียว กม.อีอีซี เปิดช่องเพิ่มพื้นที่ ศก.พิเศษ

1270

สนช.ผ่าน กม.อีอีซี กำหนดจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พร้อมเปิดช่องตรา พ.ร.ฏ.ให้พื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

             8 ก.พ.61 – ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พ.ศ… ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และวาระ 3 โดยมีทั้งหมด 71 มาตรา มีการแก้ไข 49 มาตรา มีสาระสำคัญคือ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการบริหารจัดการ การพัฒนาพื้นที่เฉพาะ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่จะมีการส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม ระบบการขนส่ง และการอำนวยความสะดวกในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และกำหนดนโยบายของรัฐ ที่จะต้องดำเนินการในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ             เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอันจำเป็น และการให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จในเขตพื้นที่นั้น รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การค้า การบริการ หรือบริการอื่นใด ที่ประกอบกิจการในเขตพื้นที่นั้น ส่งเสริมและดึงดูดให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากในและต่างประเทศ ให้มีคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบาย ประกาศกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติดตามและประเมินผลออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องต่างๆ

             จากนั้นได้เรียงลำดับรายมาตรา โดยในระหว่างการพิจารณา สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่อภิปรายสอบถามว่าทำไมถึงมีการแก้ไข มาตรา 6 ที่กำหนดให้ในกรณีที่มีความจำเป็นในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก จะตราพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)ให้พื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องกับพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยก็ได้

ทั้งนี้สมาชิก สนช. เห็นว่า การกำหนดเช่นนี้อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและขยายพื้นที่พิเศษเลยออกไปจากภาคตะวันออกได้ เนื่องจากการพิจารณาของสนช.ในวาระแรกนั้นได้รับหลักการว่าด้วยการกำหนดให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีเฉพาะ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และพื้นที่อื่นใดในภาคตะวันออกที่ถูกประกาศโดยพ.ร.ฎ.เท่านั้น             นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า เรื่องนี้มาจากคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นว่าควรหาทางให้จุดที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเข้ามาอยู่ในการได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายด้วย ซึ่งตัวอย่างที่ชัดและเป็นรูปธรรมที่สุด คือ สถานีรถไฟมักกะสัน จะกันเอาไว้สำหรับให้คนที่มาลงทุนและพัฒนาได้สิทธิประโยชน์ จึงถือเสมือนว่าเป็นพื้นที่ไข่ขาวด้วยโดยจะต้องออกเป็นพ.ร.ฎ.ที่ผ่าน ครม. ภายใต้ความจำเป็นและเพื่อประโยชน์สาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น จะเอาทำไปอย่างอื่นไม่ได้ เช่น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย หรือ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จึงคิดว่าเมื่อเราเขียนในมาตรา 6 เช่นนี้ก็ยังอยู่ในหลักการของกฎหมาย             ขณะที่มาตรา 10 ว่าด้วยสัดส่วนของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่กรรมาธิการได้มีการแก้ไขเพิ่มให้รมว.กลาโหม และรมว.ศึกษาธิการ เป็นกรรมการ ซึ่งนายมณเฑียร บุญตัน และ พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ สมาชิกสนช.เสนอให้เพิ่ม รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.ศึกษาธิการ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายรัฐวิสาหกิจ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด เข้ามาเป็นคณะกรรมการฯด้วย เพื่อให้มีกรรมการที่มีคุณวุฒิครบทุกด้านโดยไม่จำกัดเฉพาะแต่เศรษฐกิจเท่านั้น             นายวิษณุ ชี้แจงว่า คณะกรรมการนโยบายฯตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนั้นครม.ได้มีการปรับแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีนโยบายว่ากระทรวงไหนที่ไม่ได้มีผู้แทนเข้ามานั่งในกรรมการนโยบายฯ จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนงานให้สอดรับไปด้วย ส่วนการเพิ่มสัดส่วนของ รมว.กลาโหมและรมว.ศึกษาธิการ เข้ามาเป็นกรรมการนโยบายฯโดยตำแหน่ง เนื่องจากมีสมาชิกสนช.เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และมีเหตุผลเป็นที่ยอมรับ โดยกรณีของรมว.กลาโหมนั้นพบว่าการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษจะมีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายแดน และชายฝั่งทะเล จึงคิดว่าควรให้รมว.กลาโหมที่มีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาทุกเหล่าทัพเข้ามาทำหน้าที่ดูแล ขณะที่กรณีของรมว.ศึกษาธิการ มีเหตุผล คือ ในระยะยาวจะต้องพัฒนาบุคคลากรเพื่อรองรับเข้าไปทำงานในอีอีซี             ต่อมาได้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตราจนจบและลงมติในวาระ 2 จากนั้นที่ประชุม มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในวาระ 3 .ด้วยคะแนน 170 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1เสียง ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป             ทั้งนี้ที่ประชุมใช้เวลาพิจารณา 8 ชั่วโมง ซึ่งภายหลังการลงมติ นายวิษณุ ได้ กล่าวขอบคุณสมาชิกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ติดตามการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และฝากขอบคุณสนช.ที่ช่วยกันพิจารณากฎหมายนี้อย่างรอบคอบ โดยนายกฯและรัฐบาลยืนยันว่าจะใช้กฎหมายนี้ขับเคลื่อนผลักดันเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการต่อยอดจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ผลักดันอีสเทิร์นซีบอร์ดจนประสบความสำเร็จ และถือว่าเป็นกฎหมาย ฉบับที่ 2 ที่เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความสมบูรณ์และเป็นธรรม

ที่มา : คมชัดลึก
Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23