ผุด สถานีรถไฟฟ้าศิริราช รวมรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดิน ในตึกผู้ป่วย
คมนาคม เซ็นเอ็มโอยู รพ.ศิริราช ผุด สถานีรถไฟฟ้าศิริราช ในอาคารผู้ป่วย เชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน และอาคารรักษาพยาบาล เข้าด้วยกัน เสร็จสมบูรณ์ ปี 2569
วันที่ 2 พ.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้าง สถานีรถไฟฟ้าศิริราช และอาคารรักษาพยาบาล ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยขณะนี้โรงพยาบาลมีโครงการที่จะก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลแห่งใหม่ในบริเวณเดิมซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของ รฟท. ขณะที่ รฟท. ก็มีแผนที่จะก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้ารถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยายช่วง “ตลิ่งชัน–ศิริราช” ระยะทาง 5.8 กม. รวมทั้ง รฟม. มีโครงการที่จะ ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเดินทางและการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน ทั้ง 3 หน่วยงานได้บูรณาการการใช้พื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน โดยได้มีการออกแบบก่อสร้างร่วมกัน เพื่อให้มีการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า 2 เส้นทางเข้ากับและอาคารรักษาพยาบาลแห่งใหม่ของศิริราชทั้งนี้ ตามแบบก่อสร้างจะมีอาคารสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทาง ที่ชั้นใต้ดิน ชั้น 1 และชั้น 2 ซึ่งอยู่ใต้ตึกรักษาพยาบาลแห่งใหม่ของศิริราชซึ่งจะเป็นอาคารสูง 15 ชั้น โดยทั้ง 2 สถานีจะใช้ชื่อเดียวกันว่า สถานีศิริราช ป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสน
“รถไฟสายสีส้มจะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ส่วนสีแดงจะเป็นรถไฟฟ้าระดับดิน โดยสถานีรถไฟฟ้าแห่งนี้ จะเป็นสถานีแรกของประเทศที่มีการเชื่อมต่อระบบการเดินทางร่วมกับการรักษาพยาบาลเข้าด้วยกัน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน และยังช่วยแก้ปัญหากรจราจรหนาแน่นรอบโรงพยาบาลได้อีกด้วย โดยรถไฟฟ้าสายแดงนั้นคาดจะเปิดประมูลได้ภายในปีนี้ เริ่มก่อสร้างปีหน้าและให้บริการได้ปี 66 ส่วนสีส้มจะเปิดให้บริการปี 69 ส่วนอาคารโรงพยาบาลจะก่อสร้างเสร็จก่อน”
ขณะที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศิริราชจะใช้เงินลงทุนราว 2 พันล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลแห่งใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ หากแล้วเสร็จจะใช้เวลาก่อสร้างอีกประมาณ 3 ปี จึงจะเปิดให้บริการได้ ทั้งนี้ การก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า 2 สาย ให้เชื่อมต่อกับโรงพยาบาลศิริราชครั้งนี้ ถือว่าเกิดประโยชน์มาก เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรและลดระยะเวลาเดินทางให้กับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปได้ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยนอกเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลจำนวนมาก เฉลี่ยวันละ 8 พัน-1 หมื่นคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังทำให้การให้บริการรักษามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงในการรักษา เพราะผู้ป่วยจะเดินทางมาตรงตามเวลานัดหมายมากขึ้นโดยเฉพาะการนัดหมายรักษาด้วยการผ่าตัด โดยไม่ต้องเจอปัญหารถติดจนต้องเลื่อนเวลาซึ่งทำให้เกิดคิวสะสม รวมทั้งระบบขนส่งรถไฟฟ้าที่สะดวก รวดเร็ว และตรงเวลาจะช่วยสนับสนุนการให้บริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ คือการรักษาแบบเช้าไปเย็นกลับหรือ One Day Surgery ซึ่งโรงพยาบาลตั้งเป้าที่จะเปิดให้บริการในปลายปี 2562 ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
ที่มา : Thairath.co.th