สถานีกลางบางซื่อ’เหลืออะไรก่อนเปิดบริการม.ค.64

2515
สถานีกลางบางซื่อ

หลังจากใช้เวลาก่อสร้างมาเกือบ 6 ปี นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ตอนนี้ โครงการ สถานีกลางบางซื่อ ” Grand Station แห่งใหม่ของประเทศไทย ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดการก่อสร้างมีความคืบหน้าราว 60-70%

งานก่อสร้างที่เหลือส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างทางวิ่ง , โครงสร้างหลังคาเหล็กบนชั้น 3 , งานติดตั้งระบบอาคาร เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา รวมถึงงานสถาปัตยกรรม

ความท้าทายของโครงการนี้อยู่ที่การวางระบบราง เพราะพื้นที่ชั้น 2 และชั้น 3 ของสถานีมีชานชาลารวมกันถึง 24 ชานชาลา ส่งผลให้การวางโครงสร้างระบบรางมีความซับซ้อนสูง

การก่อสร้างยังเจอปัญหาเฉพาะหน้าอีกสารพัด ทั้งเรื่องการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรื้อย้ายท่อน้ำมัน ท่อก๊าซฯ หรือระบบไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม รวมถึงต้องก่อสร้างสถานีแห่งใหม่ไปด้วยและเปิดให้บริการสถานีรถไฟบางซื่อในปัจจุบันพร้อมกันไปด้วย

Advertisement

การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อจึงนับเป็น “มหากาพย์” อีกบทหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนไทย ที่ต้องมีการเพิ่มวงเงินและขยายเวลาก่อสร้างกันหลายครั้ง

ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็เตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ขอเพิ่มวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงอีกครั้ง ในเดือนธันวาคม 2561 จากปัจจุบันกำหนดวงเงินไว้ที่ 34,000 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากแผน “แต่คาดว่าการขอเงินก้อนนี้ น่าจะเป็นก้อนสุดท้าย และการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อจะเสร็จตามกำหนด”

เปิดให้บริการเดือน ม.ค. 2564

ตามไทม์ไลน์ สถานีกลางบางซื่อจะก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ในเดือนพฤศจิกายน 2562 แต่ต้องรอให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน แล้วเสร็จทั้งหมดก่อน จึงเปิดให้บริการได้พร้อมกันในเดือนมกราคม 2564

Grand Station แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบรางแห่งใหม่ของประเทศไทย รองรับตั้งแต่ระบบรางในท้องถิ่น เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ รวมถึงระบบรางระยะไกลอย่าง  รถไฟเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ จนถึงรถไฟความเร็วสูง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

สถานีกลางบางซื่อถูกออกแบบให้มีทั้งหมด 4 ชั้น ได้แก่

ชั้นใต้ดิน พื้นที่จอดรถประมาณ 1,700 คัน

• ชั้นที่ 1 พื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรม และร้านค้า รวมถึงสามารถเดินเชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน

ชั้นที่ 2 ชานชาลาสำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงจำนวน 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกลอีก 8 ชานชาลา รวม 12 ชานชาลา

ชั้นที่ 3 ชานชาลารองรับรถไฟที่มีขนาดราง 1.435 เมตร ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงสายต่างๆ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รวมทั้งหมด 12 ชานชาลา

สถานีกลางบางซื่อ มีลิฟท์ บันไดเลื่อน และห้องน้ำจำนวนมาก เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกตามปกติ แต่เรายังไม่มีประตูกั้นชานชาลาอัตโนมัติ (Platform screen doors) เพราะไม่ได้บรรจุไว้ในแผนตั้งแต่แรก จึงต้องมาดูกันว่าจะทำยังไง โดยตอนนี้มองว่าราวกั้นสแตนเลส น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะรถไฟฟ้าสายสีแดงใช้คนขับ ไม่ใช่เดินรถอัตโนมัติแบบ BTS หรือ MRT รถจึงไม่ได้จอดแบบตรงประตูเป๊ะ การใช้ราวกั้นสแตนเลส จึงเป็นทางเลือกที่ยืดหยุ่นมากกว่า” แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าว

 นอกจากนี้ การรถไฟฯ ต้องเตรียมพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณชั้น 1 ให้พร้อมรองรับผู้โดยสาร  ตอนนี้ก็ต้องรอนโยบายจากการรถไฟฯ ว่าจะให้บริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ เข้ามาดำเนินการ หรือจะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารด้วยวิธีใด

“หัวลำโพง”ค่อยๆ ลดบทบาท

สำหรับ“สถานีหัวลำโพง” ซึ่งทำหน้าที่ Grand Station ของประเทศไทยมากกว่า 100 ปี ก็คงต้องลดบทบาทลง กลายเป็นเพียง 1 ในสถานีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวมถึงเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของการรถไฟฯ

แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเดินรถ ส่วนจะปิดฉากสถานีหัวลำโพง ในฐานะ Grand Station ได้ทั้งหมดเมื่อไหร่ ก็ยังตอบไม่ได้ชัดเจน อาจจะเป็น 6 เดือนหรือ 2 ปี ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและการดำเนินโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (Missing Link) สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง

สถานีกลางบางซื่อ

“การเปิดสถานีกลางบางซื่อ และปิดหัวลำโพง มันไม่ใช่เวลาเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดมันต้องเหลือสถานีเดียว ถามว่าเมื่อไหร่ก็ต้องรอให้ฝ่ายปฏิบัติการเขาคุยกัน เพราะว่าการย้ายรถขบวนอื่นเข้ามาในสถานีกลางบางซื่อ ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการเดินรถของสายสีแดงในปี 2564 คาดว่าผู้เกี่ยวข้องคุยกันสัก 1 ปี คงจะรู้เรื่องกันทั้งหมดว่าจะดำเนินการอย่างไร ” วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าว

นับถอยหลังจากตอนนี้ ก็เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีกว่า คนไทยก็ได้ใช้บริการสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่ มีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ได้กำหนดแนวคิดการพัฒนา นั่นคือ “ศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับ ASEAN” เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าในเมือง และรถไฟความเร็วสูง

 อีกมุมหนึ่ง การรถไฟฯ ยังต้องทำงานอีกมากมาย เพื่อเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อให้ได้ตามเป้าหมายในอีก 2 ปีข้างหน้า โครงการนี้ยังถือเป็นการพิสูจน์ฝีมือของการรถไฟฯ ต่อสังคมว่า เมื่อได้รับโอกาสและงบประมาณมหาศาลแล้ว การรถไฟฯ จะแสดงฝีมือ ผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้แค่ไหน

ที่มา : thebangkokinsight

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23