รีเซ็กอสังหาฯ แนวราบขายดีจริง…? หรือแรงแค่กระแสแคมเปญ

2270

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ก้าวเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตและการเลือกที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่ม New Normal ซึ่งมีความต้องการพื้นที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น จากเทรนด์ Work From Home และการทำกิจกรรมในที่อยู่อาศัย เพื่อเว้นระยะห่างจากการสัมผัสกับคนในสังคมซึ่งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้นับจากช่วงปลายปี 62 ที่ผ่านมา ดีมานด์คอนโดมิเนียมซึ่งชะลอตัวอยู่แล้วยิ่งชะลอตัวหนักขึ้นจากการโยกย้ายของกลุ่มดีมานด์คอนโดฯ เข้าสู่กลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบ

จากกระแสดังกล่าวทำให้ในช่วงไตรมาสแรกต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 63 นี้ ยอดขายกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบปรับตัวและขยายตัวสูงมาก จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ลดจำนวนการพัฒนาคอนโดฯ และเพิ่มน้ำหนักลงทุนบ้านแนวราบ และทำให้คาดการณ์ได้ว่าในปี 63 นี้ ตลาดบ้านแนวราบจะกลับมามีสัดส่วนยอดขายสูงกว่าคอนโดฯ หลังจากที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดฯ ถือครองแชร์ที่อยู่อาศัยมากที่สุด

ศักดินา แม้นเลิศ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด(มหาชน)
ศักดินา แม้นเลิศ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด(มหาชน)

นายศักดินา แม้นเลิศ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด(มหาชน) หรือ MK กล่าวว่า กระแสบ้านแนวราบในปัจจุบันขยายตัวแรงสอดรับต่อ demand กลุ่ม New Normal ซึ่งเป็นผลมาจากอานิสงส์การที่รัฐบาลมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดเทรนด์การทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home จากกระแสและแนวโน้มดังกล่าว ทำให้กลุ่มที่อยู่อาศัยบ้านแนวราบแชร์ดีมานด์ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมได้มากขึ้น เนื่องจากแนวโน้ม ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดฯ หดตัวและอยู่ในช่วงขาลงของตลาด นับตั้งแต่มีการบังคับใช้มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ หรือ LTV ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวทำให้ Supply ในตลาดคอนโดฯ ระบายออกได้น้อยลง ขณะที่สต๊อกคอนโดฯ ในตลาดมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการทยอยก่อสร้างเสร็จของโครงการ ที่มีการเปิดตัวในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา

อัตราการขายคอนโดฯ ที่ช้าลง ผนวกกับซัปพลายคงค้างในตลาด รวมถึงผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการคอนโดฯ ตัดสินใจเร่งระบายสต๊อกโดยการลดราคาขาย และจัดแคมเปญค่อนข้างรุนแรง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในตลาด และระบายสต๊อกออกให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนจากกระแสและผลกระทบไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ประเภทแนวราบเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถรองรับความต้องการการใช้พื้นที่ในการทำงานอยู่ที่บ้าน รวมถึงการใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมส่วนตัว และกิจกรรมร่วมกับครอบครัว ขณะเดียวกัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของตลาดอสังหาฯ ก็ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยทุกกลุ่มทำแคมเปญในการเร่งตัดสินใจซื้อของลูกค้า เพื่อสร้างยอดขายให้เป็นไปตามเป้าของแต่ละบริษัท

จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่ม New Normal มองเห็นถึงโอกาสในการซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบได้มากกว่าในช่วงปกติ เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการมีการลดราคา พร้อมๆ ไปกับการจัดแคมเปญพิเศษต่างๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นการขาย ส่งผลให้ดีมานด์จากกลุ่ม New Normal ซึ่งเดิมเป็นกลุ่มที่มองหาคอนโดฯ หันมาตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ปัจจัยดังกล่าวหนุนให้ อัตราการขายกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบ ขยายตัวสูงตั้งแต่ในช่วงปลายปี 62 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน และคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งสอดคล้องต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ และวิถีการใช้ชีวิตของกลุ่ม New Normal

Advertisement

นายศักดินา กล่าวว่า สถานการณ์และแนวโน้มดังกล่าวที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มั่นคงฯ ซึ่งเน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นหลักได้รับอานิสงส์ไปด้วย ทั้งนี้ มั่นคงฯ มองว่าการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมลูกค้าในปัจจุบันเกิดจาก 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1.ความต้องการพื้นที่ในการยู่อาศัยที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการทำงานและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน 2.การมีระบบขนส่งรถไฟฟ้า ที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าเมืองหรือแหล่งงานในย่านใจกลางเมืองที่สะดวกสบาย

ขณะเดียวกัน ความเจริญในพื้นที่ชานเมืองในปัจจุบัน ทำให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการใช้ชีวิตได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเปิดตัวศูนย์สรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร โรงพยาบาล และสถานศึกษาในย่านชานเมือง เมื่อรวมกับระบบขนส่งรถไฟฟ้าที่มีความครอบคลุมพื้นที่ กทม. และชานเมือง ที่สามารถตอบโจทย์การเดินทางไปทำงานในย่านใจกลางเมืองได้รวดเร็ว กลายมาเป็นปัจจัยหนุนให้พฤตกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อบ้านแนวราบเพิ่มมากขึ้น

“ในช่วงที่ผ่านมาเด็กจบใหม่ หรือเริ่มทำงานจะมองหาห้องชุดพักอาศัยในย่านใกล้เมืองหรือกลางเมืองในการพักอาศัย เนื่องจากอยู่ใกล้ที่ทำงานและใจกลางเมืองสะดวกในการเดินทาง ขณะที่บ้านแนวราบที่อยู่ในย่านชานเมืองจะไม่ได้รับความสนใจเพราะมีปัญหาการเดินทางเข้าไปทำงาน แต่ภายหลังการเปิดใช้รถไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มมากขึ้นก็ทำให้ปัญหาด้านการเดินทางหมดไป ขณะที่เทรนด์การทำงานจากที่บ้าน ยังส่งต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเลือกที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคให้หันมาเลือกซื้อบ้านแนวราบเพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มบ้านแนวราบได้อานิสงส์จากดีมานด์บ้านหลังที่ 2 จากกลุ่มผู้อยู่อาศัยคอนโดฯ และกลุ่มดีมานด์คอนโดใ หม่ที่ไหลเข้าสู่ตลาดแนวราบ”

แนวโน้มที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการอสังหาฯ ลดการพัฒนาโครงการคอนโดฯ และหันมาเพิ่มการพัฒนาโครงการแนวราบ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม หรือทาวน์เฮาส์ ทั้งนี้ จากตัวเลขของบริษัทวิจัยตลาดอสังหาฯ หลายๆ รายสะท้อนให้เห็นว่าในช่วงไตรมาส 1/63 ที่ผ่านมา มีการเพิ่มขึ้นของโครงการแนวราบในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยพบว่าในไตรมาสแรกนั้นผู้ประกอบการอสังหาฯ เปิดตัวโครงการบ้านแนวราบสูงถึง 80% ขณะที่โครงการคอนโดญฯ มีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 20% จากปกติจะมีสัดส่วนการเปิดตัวสูงถึง 60%

ขณะที่ผลวิจัยของธนาคารเกียรตินาคิน เกี่ยวกับบ้านแนวราบ พบว่า มีโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบมีอัตราการขายที่ดีมากโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ระดับราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท โดยทำเลที่ได้รับความนิยมมากคือ ทำเลย่านชานเมือง เช่น โซนตะวันตกกทม. ในย่านบางใหญ่ บางบัวทอง จ.นนทบุรี ตลอดจนทำเลย่านถนนรัตนาธิเบศร์ตอนปลาย และถนนชัยพฤกษ์ส่วนต่อขยาย ขณะที่โซนเหนือ กทม. ทำเลที่นิยมมากคือ ย่านถนนรังสิตคอลง 1-3 ส่วนโซนตะวันออกของ กทม. คือ ทำเลย่านบางนาตราดไม่เกินกิโลเมตรที่ 30

สาเหตุที่ทำเลเหล่านี้ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากเป็นทำเลที่มีความเจริญมากขึ้น และมีการขยายตัวของสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สถานศึกษา สาขาให้บริการของสถาบันการเงิน ที่สำคัญคือมีระบบรถไฟฟ้ารองรับการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าทำเลเหล่านี้จะอยู่ไกลออกมาจากใจกลางเมือง แต่รถไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่และการเดินทางทำให้ปัญหาการเดินเข้าเมืองหมดไป ผู้บริโภคจึงหันมาเลือกซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบแทนคอนโดฯ เพราะเมื่อเทียบขนาดพื้นที่อยู่อาศัยที่มากกว่าคอนโดฯ แม้ว่าจะไกลเมืองออกมาบ้างก็ถือว่าคุ้มกว่าเมื่อเทียบราคาขายที่ไม่ต่างกันมากแต่ได้พื้นที่ในการอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

“สถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ในขณะนี้ คอนโดฯ ถือว่ามีอัตราการชะลอตัวแรงมาก เนื่องจากยังมีซัปพลายเหลือขายในปริมาณสูง ส่วนที่อยู่อาศัยแนวราบปรับตัวดีขึ้นมากโดยเฉพาะกลุ่มบ้านระดับกลาง-บนราคา 3 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 4 ล้านบาท ส่วนตลาดบ้านระดับล่างราคา 1-2.5ล้านบาท แม้จะมีดีมานด์จำนวนมากแต่มีปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อเนื่องจากศักยภาพทางการเงินของลูกค้าลดลง”

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจของมั่นคงฯ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะเน้นทำตลาดเชิงรุก ปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อให้ทันกับตลาด โดยจะเพิ่มน้ำหนักในการทำการตลาดผ่านระบบออนไลน์ โดยจะมีการเปิดตัวแอปพลิเคชันไลน์ นำเสนอการขายเข้าถึงลูกค้าแบบครบวงจร โดยลูกค้าสามารถเข้าชมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน ขณะเดียวกัน ก็สามารถสอบถามขอข้อมูล และเปิดให้ลูกค้าสามารถจองซื้อผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที นอกจากนี้ ยังเน้นในเรื่องการให้บริการหลังการขาย ให้คำปรึกษาปัญหาลูกค้าในการอยู่อาศัย และการบริหารจัดการโครงการ พร้อมๆ ไปกับการจัดแคมเปญที่เน้นแก้ปัญหาให้แก่ลูกค้าในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการเงินและการขอสินเชื่อ ซึ่งจะส่งผลต่อยอดขายและรายได้ของบริษัทในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งมั่นคงฯ มั่นใจว่าในปีนี้บริษัทจะมียอดไม่ต่ำกว่า 2,600 ล้านบาท

ธีรเดช เกิดสำอางค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท-ทาวน์เฮ้าส์ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)
ธีรเดช เกิดสำอางค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท-ทาวน์เฮ้าส์ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)

พฤกษาฯ เผยครึ่งปีหลังเน้นระบายสต๊อก-ชอปที่ดินศักยภาพสูง

ด้าน นายธีรเดช เกิดสำอางค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท-ทาวน์เฮาส์ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมในครึ่งหลังของปี 63 จะยังชะลอตัวต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ดี แต่กำลังซื้อและความมั่นใจของผู้บริโภคยังไม่กลับมาทันที รวมถึงยังคงมีปัจจัยลบหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ LTV สภาพเศรษฐกิจการเงินทั้งภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่ยังไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น

สำหรับทิศทางในตลาดแนวราบในปีนี้ ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็กมีแนวโน้มหันมาพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้น เพื่อจับตลาดเรียลดีมานด์ และลดความเสี่ยงในธุรกิจ พร้อมระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่มากขึ้นกว่าเดิม คาดว่ามูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยในปี 63 นี้ มีโอกาสลดลงมากถึง 37% ซึ่งจากตัวเลขที่สะท้อนวิกฤตโควิด-19 ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีการแข่งขันในด้านราคาของหลายผู้ประกอบการที่นำสินค้าที่มีในมือมาขายโดยลดราคาลงมาอย่างมาก เพื่อดึงกระแสเงินสดเข้าบริษัท

“ส่วนในตลาดต่างจังหวัดคาดว่าตลาดจะยังชะลอตัวมากเช่นกัน จากสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวที่กระทบหนักโดยตรงจากวิกฤตโควิด-19 จึงส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยต่างจังหวัด ทั้งหัวเมืองอุตสาหกรรม และหัวเมืองท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับตลาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล”

ทั้งนี้ ในส่วนของภาพรวมกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบของพฤกษาฯ ปัจจุบัน มีโครงการทาวน์เฮาส์ที่เปิดขายอยู่ประมาณ 100 กว่าโครงการ มูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท โดยในปี 63 นี้ มีการเปิดโครงการทาวน์เฮาส์ไปแล้ว 3 โครงการ มูลค่า 3,700 ล้านบาท และยังมีแผนเปิดโครงการทาวน์เฮาส์ในครึ่งปีหลังอีก 3 โครงการ มูลค่าประมาณ 3,700 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีการขยายตัวที่ดี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านการขอสิเชื่อไตรมาส 1 ปี 63 กลุ่มลูกค้าทาวน์เฮาส์มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารอยู่ที่ 10% ซึ่งเท่ากับในช่วงไตรมาส 1 ปี 62 ซึ่งลูกค้ามีอัตราปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารที่ 10% เช่นเดียวกัน

จากแนวโน้มดังกล่าว ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ พฤกษาฯ ได้มีการกำหนดกลยุทธ์การตลาดออกเป็น 2 ช่วงคือ 1.กลยุทธ์ในช่วงระยะสั้น คือ เน้นระบายสต๊อก ด้วยการออกแคมเปญ “พฤกษา ทาวน์เฮาส์ ลดเป็นล้าน ผ่อนให้นาน 2 ปี ฟรีทอง” สำหรับลูกค้าที่จองและโอนกรรมสิทธิ์โครงการทาวน์โฮมพร้อมอยู่ของพฤกษา แบรนด์บ้านพฤกษา พฤกษาวิลล์ เดอะคอนเนค และพาทิโอ จำนวน 98 โครงการที่เข้าร่วมรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 63 รับสิทธิพฤกษาผ่อนให้นานสูงสุด 24 เดือน รับส่วนลดเพิ่มสูงสุดกว่า 1 ล้านบาท ฟรีทองคำหนัก 1 บาท ฟรีทุกค่าใช้จ่ายวันโอนกรรมสิทธิ์

2.กลยุทธ์ระยะยาว จะให้ความสำคัญกับการซื้อที่ดินที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยต้องเป็นที่ดินเกรดเอเท่านั้น พร้อมกับการพัฒนาโปรดักต์ดีไซน์ให้ตอบสนองต่อความต้องการพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องของ ‘ฟังก์ชัน’ การอยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น มีระบบระบายอากาศเพื่อให้ลูกค้าอยู่สบายไม่อึดอัด ตอบโจทย์การทำงานที่บ้าน รวมทั้งการลดขั้นตอนการทำงานเพื่อ ‘ลดต้นทุน’ และ ‘ลดราคา’ ให้สามารถแข่งขันได้กับคู่แข่ง

นอกจากนี้ ยังปรับกลยุทธ์ด้วยการหาช่องทางขายใหม่ๆ (New Sales Channel) และนำเอาสินค้าของตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล ตลอดทุกช่วงของ Customer Journey ให้ได้มากที่สุด และเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า โดยยกระดับการพัฒนาสินค้า นวัตกรรม และการบริการ แบบบูรณาการในทุกมิติ พร้อมทั้งปรับกลยุทธ์การตลาดและการขาย โดยได้ปรับการขายผ่าน Digital Platform ตั้งแต่ระยะต้น เช่น Facebook Live พาเยี่ยมชมโครงการ ซื้อสินค้าผ่านทางไลน์แชต (Line Chat) ชมโครงการผ่าน VDO 360 องศา และ VDO Call การคัดเลือกบ้านยูนิตพิเศษ (Hot Deals) พร้อมราคาและเงื่อนไขสุดพิเศษ ผ่านทาง www.pruksa.com ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี รวมทั้งการใช้ data science วิเคราะห์เพื่อเข้าถึงความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง

ประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน)
ประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน)

นางประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบจังหวัดนนทบุรี กล่าวยอมรับว่าตลาดที่อยู่อาศัยในนนทบุรีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อกาปรับตัวของราคาที่ดินอย่างมาก ขณะเดียวกัน บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ก็ขยายการลงทุนโครงการเข้าสู่ตลาดจำนวนมากส่งผลให้การแข่งขันเพิ่มตามไปด้วย โดยเฉพาะในตลาดคอนโดฯ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดแนวราบอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สินค้าแนวราบในทุกกลุ่มมีอัตราการขายที่ดีทุกระดับราคาโดยเฉพาะโครงการในโซนบางบัวทอง บางใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นโซนฮิตของกลุ่ม New Normal สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้มีบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่เข้าสู่ตลาดแนวราบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ต้องมีการปรับตัวรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ จะส่งผลให้นนทบุรีกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดีของ กทม. ขณะเดียวกัน ก็จะมีผลให้ราคาที่ดินนนทบุรีปรับตัวสูงขึ้นไปอีกแม้ว่าก่อนหน้านี้ราคาที่ดินในนนทบุรีจะมีการปรับตัวอยู่ตลอดก็ตาม

จากแนวโน้มและการคาดการณ์ของบริษัทอสังหาฯ ในข้างต้นสะท้อนและยืนยันเป็นอย่างดีว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่ม New Normal ถือเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดอสังหาฯ ในปีนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกระแสการขายดีอย่างร้อนแรงของกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบ ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการชะลอตัวของตลาดและเศรษฐกิจของประเทศไทย

ที่มา : mgronline.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23