รัฐเคาะมาตรการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ พยุงเงินในกระเป๋าสู้โควิด-19

1381

เริ่มต้นปี 2021 มาได้ไม่เท่าไร ก็เจอกับปัญหาหนักอย่างการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ลากต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปีก่อน ทำให้การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ถูกจับตา หลายคนรอฟังมาตรการเยียวยาจากภาครัฐหลังเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่าจะช่วยอะไรบ้าง วงเงินมากน้อยแค่ไหน บรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบในครั้งนี้ได้เท่าไร จะพยุงเงินในกระเป๋าประชาชนอย่างไร เอาอะไรมาซัพพอร์ตในช่วงรายได้หดหายเช่นนี้ เพราะหลายจังหวัดหลายพื้นที่ต้องปิดกิจการกิจกรรมจบแทบจะคล้ายกับการล็อกดาวน์ไปแล้ว

หลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงเป็นคนแรกถึงมติต่างๆ ของ ครม. ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ออกมาก็มีทั้งการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และเตรียมวงเงินเยียวยาประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขก็ไม่เท่ากับการระบาดในรอบแรก และมาในชื่อโครงการ “เราชนะ” ส่วนลักษณะของโครงการนี้ก็คล้ายกับโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” นั่นเอง ในช่วงนั้นรัฐบาลจ่ายเงิน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมีมาตรการและโครงการต่างๆ ที่เคาะสดๆ ร้อนๆ บางส่วนก็แง้มให้ดูก่อนที่จะกำหนดระยะเวลาดำเนินการ มีดังนี้

ลดค่าไฟ-ค่าน้ำ-อินเทอร์เน็ต

มาตรการช่วยค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและวิสาหกิจ) จำนวนกว่า 23.7 ล้านราย โดยบ้านอยู่อาศัย ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้ฟรี 90 หน่วยแรก ถ้าใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟ ตามเงื่อนไข ส่วนกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและวิสาหกิจ ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก เป็นเวลา 2 เดือน รอบใบแจ้งหนี้เดือน ก.พ.-มี.ค. 2564

เงื่อนไขมาตรการช่วยค่าไฟฟ้ากรณีที่ใช้เกิน 150 หน่วยต่อเดือน
1. ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับบิล ธ.ค.63 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง
2. หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าบิล ธ.ค. 63 ให้คิดค่าไฟฟ้าดังนี้

มาตรการช่วยค่าน้ำประปา โดยลดค่าน้ำประปาร้อยละ 10 สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและวิสาหกิจ) ใบแจ้งหนี้เดือน ก.พ.-มี.ค. 2564 จำนวนกว่า 6.76 ล้านราย

Advertisement

ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ที่ใช้ไฟไม่ถึง 50 หน่วยติดต่อกัน 3 เดือน ใช้ไฟฟ้าฟรี ถ้าใช้เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ก็ใช้สิทธิ์ตามมาตรการในวงเงินไม่เกิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน แต่หากใช้เกิน 230 บาท ก็ต้องจ่ายค่าไฟ สำหรับค่าน้ำ ได้สิทธิ์ใช้ฟรีในวงเงิน 100 บาทต่อครัวเรือน/เดือน

อินเทอร์เน็ต จะมีการเพิ่มความเร็วและแรงของอินเทอร์เน็ตบ้าน อินเทอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือ และลดค่าใช้จ่ายผู้ใช้บริการ สนับสนุนการ Work From Home และโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ฟรี ไม่คิดดาต้าเป็นเวลา 3 เดือน

โครงการ “คนละครึ่ง”

เตรียมเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ 1 ล้านสิทธิ์ ปลายเดือน ม.ค. 2564 จะนำเข้า ครม. ในวันที่ 19 ม.ค. 2564 ส่วนเรื่องการลงทะเบียนกำหนดไว้คร่าวๆ เมื่อ ครม.เห็นชอบในวันที่ 19 ม.ค. 2564 จะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 20 ม.ค. 2564 โดยผู้ลงทะเบียนสำเร็จจะสามารถใช้จ่ายได้ในวันที่ 25 ม.ค. 2564

โครงการ “เราชนะ” 

เป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครอบคลุมทุกกลุ่ม หรือที่เรียกกันว่ามาตรการเยียวยา ซึ่ง ครม. พิจารณาวงเงิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน เรื่องนี้จะนำเสนอในวันที่ 19 ม.ค. เช่นกัน โดยผู้ที่ลงทะเบียนผ่านเกณฑ์จะเริ่มใช้เงินได้ภายในสิ้นเดือน ม.ค. เป็นอย่างเร็ว หรือต้นเดือน ก.พ. เป็นอย่างช้า

โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

ผู้ใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน ที่มีการจองที่พักในช่วงเดือน ม.ค. ถึง ก.พ. 2564 สามารถเลื่อนการเดินทางออกไปได้จนถึงเดือน เม.ย. 2564 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และ ครม. ยังมอบหมายให้ ททท. พิจารณาแนวทางในการขยายระยะเวลาโครงการที่เหมาะสม และปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกันให้มีความรัดกุม เพื่อให้โครงการนี้สามารถเป็นอีกเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในประเทศตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี

ประกันสังคม

มาตรการเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคม ให้ลดหย่อนการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 2564 โดยลูกจ้างลดเหลือ ร้อยละ 3 ขณะที่นายจ้าง ก็ลดเหลือร้อยละ 3 เช่นกัน

กรณีว่างงาน

  • ว่างงานจากถูกเลิกจ้าง แรงงานจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 200 วัน จากเดิมได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 180 วัน
  • ว่างงานจากการลาออก แรงงานจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน จากเดิมได้รับเงินชดเชยร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน
  • ว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัย ซึ่งจะเกิดขึ้นจากประกาศจากทางราชการที่มีการสั่งปิดพื้นที่ หรือหยุดการปฏิบัติงานในโรงงานต่างๆ ในส่วนนี้แรงงานจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน และหากเป็นการหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างก่อนหยุดการจ้างเป็นการชั่วคราว

การเสริมสภาพคล่อง การพักชำระหนี้

มาตรการทางการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง ที่อยู่ภายใต้กำกับกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงการคลังได้รับการขออนุมัติจาก ครม. ขยายเวลา 3 โครงการ คือ

  • สินเชื่อเสริมพลังฐานราก (ธนาคารออมสิน) มีวงเงินคงเหลือ 7,500 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้มีรายได้ประจำ อาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงคนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือภัยธรรมชาติ หรือภัยทางเศรษฐกิจ วงเงิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 3 ปี โดย ครม.ให้ขยายเวลาออกไปถึง 30 มิ.ย. 2564
  • สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีวงเงินคงเหลือ 11,400 ล้านบาท เป็นวงเงินของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นการสนับสนุนสินเชื่อให้ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ หรือเกษตรกรรายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.1 ต่อเดือน ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ซึ่ง ครม.ขยายขอรับสินเชื่อได้ถึง 30 มิ.ย. 2564
  • สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินคงเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อพัฒนาในธุรกิจของตัวเอง อัตรดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในปีที่ 1 และ 2 อัตราไพรม์เรต ลบร้อยละ 2 ต่อปี ปีที่ 3-5 และคิดอัตราไพรม์เรตในปีที่ 6-7 อยู่ที่ร้อยละ 6 ต่อปี โดย ครม.ขยายเวลาถึง 30 มิ.ย. 2564 เช่นกัน

ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์

ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ให้ชำระเพียง 10% ส่วนยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ ลดเหลือ 0.01% และจะนำเสนอ ครม. ภายใน 2 สัปดาห์นี้

ไม่เพียงเท่านั้น ครม. ยังอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้รับจากมาตรการหรือโครงการดังต่อไปนี้คือ มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของโควิด-19, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน, โครงการกำลังใจ และโครงการคนละครึ่งเฟส 1 ช่วงเดือน ต.ค. ถึง ธ.ค. 2563 โดยให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2563 ซึ่งการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระทางภาษีและยังช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และช่วยให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัว เป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน

แม้ว่าจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาให้ได้เห็นหน้าค่าตาแบบจับต้องได้ แต่หลายคนก็ยังเป็นห่วงว่างบประมาณนั้นยังจะเหลือใช้จ่ายในการเยียวยาอีกเท่าไหร่ ในเรื่องนี้ นายกฯ ตู่ ก็ย้ำเองว่า รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการดูแลเศรษฐกิจในรอบการระบาดใหม่นี้ เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ใช้ไป 5 แสนกว่าล้าน ยังเหลือประมาณ 4.9 แสนล้านบาท ไหนจะงบกลางของงบประมาณปี 2564 อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท รวมกันแล้ว 6 แสนล้านบาท ในเรื่องเงินเราไม่มีปัญหา พร้อมจะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และทันการณ์ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าเรารับมือโควิด-19 ได้ ที่สำคัญที่สุดคือเราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อจะผ่านมันไปได้อีกครั้ง เหมือนที่เราร่วมมือกันทำสำเร็จมาแล้ว

รัฐบาลทยอยออกมาตรการและโครงการ รวมถึงสานต่อในหลายส่วนที่เคยดำเนินการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนอย่างน้อยๆ ก็ 2 เดือน ตามที่คาดการณ์ว่าน่าจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิดรอบนี้ได้ ซึ่งการจะควบคุมได้นั้นก็ต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนจึงจะเกิดผลสำเร็จโดยเร็ว เชื่อว่าการรวมพลังของคนไทยในครั้งนี้จะช่วยให้เราเอาชนะเจ้าเชื้อร้ายจนทำให้ประเทศกลับมาฟื้นตัว ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแบบไม่ประมาทและไม่ต้องถูกจำกัดอีกครั้ง.

ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

ที่มา : www.thairath.co.th

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23