รถไฟไทย จีน
วงถกไทย-จีน วางไทม์ไลน์รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ โคราช เคาะก่อสร้างทุกสัญญา มิ.ย. ออกประกาศทีโออาร์อีก 7 สัญญา ด้าน “อาคม” ลั่นปิดดีลลงนามสัญญางานระบบกว่า 3.8 หมื่นล้าน จีนปล่อยกู้ 25 ปี ดอกเบี้ย 3% ชงศึกษาเฟส 2 โคราช-หนองคาย เสนอ “ครม.บิ๊กตู่” อนุมัตินัดสั่งลา “อยุธยา-สระบุรี” ผุดโครงข่ายเชื่อมสถานี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการรถไฟไทย-จีน เมื่อวันที่ 14 ก.พ. มีการหารือถึงความคืบหน้าในประเด็นต่าง ๆ ของการก่อสร้างรถไฟไทย จีน ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งมีความคืบหน้าในประเด็นต่าง ๆ
เซ็นสัญญา “ซีวิล” 6 มี.ค.นี้
การก่อสร้างช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 179,412 ล้านบาท ระยะทาง 253 กม. สัญญาที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. เงินลงทุน 425 ล้านบาท ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยกำชับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งรัดการดำเนินการและปรับปรุงการเบิกจ่ายใหม่แล้ว
ส่วนงานสัญญาที่ 2.1 งานโยธา ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ราคากลาง 3,350.475 ล้านบาท หลังจากที่ บจ.ซีวิล เอนจิเนียริ่ง เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 3,115 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลาง 7% จะมีการลงนามในสัญญาวันที่ 6 มี.ค.นี้
มี.ค.ยื่นซอง 5 สัญญารวด
อีก 5 สัญญา รวมระยะทาง 144 กม. เงินลงทุนรวม 58,425 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บ้านม้า ระยะทาง 30.21 กม. เงินลงทุน 11,386 ล้านบาท 2.ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. เงินลงทุน 11,659 ล้านบาท 3.ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. เงินลงทุน 10,917 ล้านบาท
4.ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. เงินลงทุน 13,293 ล้านบาท และ 5.ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.40 กม. เงินลงทุน 11,170 ล้านบาท ที่ ร.ฟ.ท.ออกประกาศทีโออาร์ไปแล้ว คาดว่าเดือน มี.ค.จะเปิดให้ยื่นซองได้ทั้ง 5 สัญญา ในรูปแบบ e-Bidding
เร่งกำหนดราคากลาง 7 สัญญา
อีก 7 สัญญาที่เหลือ ได้แก่ 1.อุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง 2.ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง 3.ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา 4. บางซื่อ-ดอนเมือง 5.งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 6. ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว และช่วงสระบุรี-แก่งคอย จะสามารถทำราคากลางได้เสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้ ก่อนที่จะออกประกาศทีโออาร์ในเดือน มี.ค. และจะใช้เวลาพิจารณาคัดเลือกเอกชนจนได้ตัวในเดือน เม.ย.
คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ทั้งหมดในเดือน พ.ค. เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนก่อสร้างในเดือน มิ.ย. ก็จะถือว่างานระยะที่ 1 ของโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด
มี.ค.ชง ครม.เซ็นสัญญางานระบบ
ด้านงานสัญญา 2.3 ระบบการวางราง การเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ เงินลงทุน 38,558.35 ล้านบาท ยังอยู่ในกระบวนการพูดคุยกับประเทศจีน เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก
โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย จะพยายามพูดคุยให้จบในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (JC) ( รถไฟไทย จีน )ครั้งที่ 27 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค.นี้
“หากเจรจาสำเร็จแล้ว จะนำประเด็นที่ตกลงกันมาเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบภายในเดือน มี.ค.และตั้งเป้าไว้ว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนเดียวกัน”
จีนเกี่ยงไม่รับผิดชอบโครงการ เนื่องจากยังมีประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันหลายประเด็น ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอมาจากของจีนเป็นหลัก ส่วนตัวมองว่า ทุกข้อเสนอเหมือนว่าจีนจะไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น เช่น การประกันผลงาน จีนจะประกันให้เพียง 1 ปี แต่ไทยขอ 2 ปี, การคิดค่าปรับเมื่อฝ่ายจีนทำงานล่าช้า จีนขอให้คิดอัตราค่าปรับที่ร้อยละ 0.0001
แต่ตามกฎหมายไทยให้ไม่ได้ เพราะขั้นต่ำที่กำหนดไว้อยู่ที่ร้อยละ 0.1 ส่วนกรณีที่ไทยทำงานล่าช้า จีนขอให้ไทยชดเชยในรูปแบบค่าปรับ แต่ไทยทำได้สูงสุดแค่ขยายเวลาให้ ไม่สามารถยอมจ่ายค่าปรับได้ เป็นต้น
เปลี่ยนใจรับเงินกู้ดอก 3%
ขณะที่การกู้เงิน หลัง ครม.มีมติเห็นชอบให้สามารถกู้เงินได้จากแหล่งเงินทุนทั้งในและต่างประเทศได้ ภายใต้กรอบวงเงิน 166,342.61 ล้านบาท ที่ประชุมไม่ได้หารือในเรื่องนี้ แต่ได้สอบถามไปยังกระทรวงการคลังแล้ว โดยข้อเสนอที่คุยไว้กับจีน ทางนั้นยังเสนอดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 3% ต่อปี ปลอดดอกเบี้ย 5 ปีแรก ระยะเวลาสัญญา 25 ปี
โดยฝั่งไทยสามารถรับภาระดอกเบี้ยได้แล้ว จากเดิมที่เคยยืนยันว่าดอกเบี้ยต้อง 2.6% ต่อปี เพราะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ต้องพิจารณากันใหม่ แบ่งเป็นปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะแหล่งเงินที่ไปหามาได้ ซึ่งจีนอ้างว่ามีต้นทุนสูง เพราะเป็นการกู้เงินระหว่างประเทศ บวกกับภาวะตลาดทุนโลกที่ผันผวนด้วย
ส่วนปัจจัยภายใน ก็มาจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับขึ้น 0.25% ต่อปีจาก 1.50% เป็นร้อยละ 1.75% ต่อปี เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา สรุปแล้วคือ ไทยรับเงินกู้จากจีนได้ ส่วนจะกู้เป็นสกุลเงินใด ต้องดูเนื้องานก่อน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ตัดสินใจ
นายอาคมกล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการในเฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางประมาณ 350 กม. อยู่ระหว่างการของบประมาณเพื่อศึกษาออกแบบจำนวน 779 ล้านบาท เสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณา โดยฝ่ายจีนจะเป็นที่ปรึกษาโครงการ คาดว่าจะเสนอ ครม.ทันเฉพาะในส่วนได้ศึกษาความเป็นไปได้ก่อน
อนุมัติอยุธา-สระบุรีเพิ่มโครงข่ายเชื่อม
นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบสนับสนุนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟความเร็วสูง โดยเห็นชอบข้อเสนอพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ขยายถนนงามเขตต์ ทางหลวง 3053 ทางหลวง 309 ทางหลวง 3477 ทางหลวง 356 ให้เป็นถนน 4 ช่องจราจร ก่อสร้างถนนจากถนนโรจนะเชื่อมเข้าไปด้านหลังสถานีรถไฟ ก่อสร้างสะพาน
คนเดินข้ามแม่น้ำป่าสักเชื่อมสถานีรถไฟกับตลาดเจ้าพรหม ก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ พัฒนาท่าเทียบเรือให้มีความมั่นคงแข็งแรง และปรับปรุงรถโดยสารในเขตเมืองพร้อมปรับเส้นทางรถโดยสารให้มีความเหมาะสม
และเห็นชอบข้อเสนอพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในจังหวัดสระบุรี ได้แก่ ก่อสร้างสะพานข้ามแยกแก่งคอย แยกตาลเดี่ยว และแยกเสาไห้ ก่อสร้างอุโมงค์ข้ามทางรถไฟ ขยายทางหลวง 362 ทางหลวง 3222 ทางหลวง 3034 ทางหลวง 3048 ทางหลวง 3188 ให้เป็นถนน 4 ช่องจราจร ก่อสร้างทางขนานทางหลวง 362 และก่อสร้างถนนเชื่อมศูนย์ราชการกับสถานีรถไฟสระบุรี
ที่มา : prachachat.net