หลังจากมีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 22.00–04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2563 เป็นต้นมา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกภาคส่วนต้องมีการปรับตัวงดกิจกรรม งดการเดินทาง ช่วงเวลาดังกล่าว
ในส่วนของงานก่อสร้างโครงการต่างๆ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน บนดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นทำงานช่วงกลางคืน ต้องปรับตัวกันอย่างไร “รายงานวันจันทร์” มีคำชี้แจงจากผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ
ถาม-งานก่อสร้างรถไฟฟ้าได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
ภคพงศ์-ปัจจุบัน รฟม.มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี, สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ซึ่งงานก่อสร้างจะเน้นทำช่วงกลางคืน ขณะนี้ต้องปรับแผนการทำงานใหม่ เริ่มจากคนงานก่อสร้างต้องปรับเวลาทำงานใหม่ เช่น กะกลางคืน จะเข้างานเร็วขึ้นประมาณ 19.00 น. หรือต้องเข้าพื้นที่ก่อสร้างก่อนเวลา 22.00 น. และเลิกงานหลัง 04.00 น.ไปแล้ว เมื่อเข้าประจำจุดไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นเคหสถาน ทุกคนจะต้องอยู่ภายในพื้นที่ก่อสร้าง ห้ามออกมาเดินเพ่นพ่านเด็ดขาด จะกินอะไรก็ต้องเตรียมจากที่พักให้พร้อม เพราะร้านค้าก็ปิดให้บริการเช่นกัน ส่วนงานเฉพาะทาง เช่น การรื้อย้าย การติดตั้งระบบไฟ ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทซับคอนแทค จะต้องปรับเวลาทำงานเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ เกี่ยวกับงานก่อสร้างด้วยรถบรรทุก แต่ละโครงการจะทำเรื่องขออนุญาตผ่อนผันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรให้รถบรรทุกวิ่งช่วงกลางวันแทน โดยเน้นเส้นทางและช่วงเวลาที่ไม่ให้กระทบต่อการจราจรมากนัก ส่วนดินที่ได้จากการก่อสร้าง หรือจากการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน ปกติจะให้รถบรรทุกมาขนลำเลียงไปจัดเก็บตามสถานที่ที่กำหนดในช่วงกลางคืน ตอนนี้ดินที่ขุดขึ้นมานั้นจะต้องพักไว้ที่ไซต์งานก่อสร้างก่อนรอการขนลำเลียงช่วงกลางวันแทน เมื่อเป็นเช่นนี้การขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ มายังไซต์งานอาจไม่สะดวก เพราะพื้นที่จำกัด ผู้รับเหมาก็จะต้องบริหารจัดการพื้นที่ภายในไซต์งานก่อสร้างเพื่อให้การทำงานส่วนอื่นสามารถทำควบคู่กันไปได้
ถาม-มีมาตรการดูแลสุขภาพคนงานอย่างไร
ภคพงศ์-รฟม.กำชับผู้รับเหมาทุกโครงการให้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ดังนี้ ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิ บุคลากร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานก่อนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานทุกครั้ง จัดให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือบริเวณสำนักงานโครงการฯ และพื้นที่ปฏิบัติงาน กำชับให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้าพื้นที่ปฏิบัติงาน เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดบริเวณจุดที่สัมผัสร่วมกัน ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ เช่น โปสเตอร์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ Safety Talk พูดคุยก่อนการเริ่มปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จัดประชุมด้วยระบบ Video Conference แทนการนั่งประชุมรวมกลุ่มในอาคารสำนักงานโครงการ ขณะนี้ยังไม่พบรายงานว่ามีคนงานติดเชื้อโรคแต่อย่างใด
ถาม-การปรับแผนจะกระทบเรื่องเวลาและงบประมาณหรือไม่อย่างไร
ภคพงศ์-ยอมรับว่าก่อสร้างทุกโครงการได้รับผลกระทบ เพราะทำงานได้ไม่เต็มที่ เวลาเพิ่ม งบก็ต้องเพิ่มตาม แต่ในสถานการณ์ขณะนี้ไม่อยากให้ทุกฝ่ายกังวลเรื่องนี้มากจนเกินไป เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่านี้ อยากให้ทุกคนมุ่งมั่น และให้ความร่วมมือทำตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัดมากกว่า เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้อย่างปลอดภัย ส่วนเรื่องผลกระทบนั้นเชื่อว่ารัฐบาลได้เตรียมมาตรการเยียวยารองรับให้แล้ว ทั้งนี้หากทุกคนร่วมมือเชื่อว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยดี และเมื่อกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติก็จะมีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น.
ที่มา : www.thairath.co.th