‘ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช’ ยิ้มรอรถไฟฟ้าสร้างในปี63

944

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบของรถไฟฟ้าใน 6 จังหวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย .ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา และ พิษณุโลก อยู่ระหว่างศึกษาเพิ่มอีก 1 จังหวัด คือ อุดรธานี แต่ผลการศึกษาระบุให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งเหมาะสมกับสภาพของเมืองในปัจจุบันมากกว่า

ในจำนวน 6 จังหวัดที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) รับผิดชอบ 4 จังหวัด ส่วนอีก 2 จังหวัด สงขลาและขอนแก่น ให้ท้องถิ่นรับผิดชอบ ขณะนี้รฟม.อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน หมายความว่านอกจากรฟม.จะมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ทั่วประเทศทั้งเหนือ ใต้ อีสานและภาคกลาง

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (ฝ่ายกลยุทธ์และแผน) รฟม. บอกว่า ความคืบหน้า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าภูเก็ต ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้จัดสัมมนาการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน โครงการระยะ (เฟส) 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. 21 สถานี งบประมาณ 34,000 ล้านบาท หลังจากได้จัดที่จ.ภูเก็ตเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ภาพรวมการจัดงานทั้ง 2 จุด ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน และจีน ในส่วนของไทยมีทั้งบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม รวมทั้งบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ด้วย

รฟม.กำลังเร่งหารือกรมทางหลวง (ทล.) ในรายละเอียดของการปรับแบบก่อสร้างเป็นระบบใต้ดินหรือยกระดับแทนระดับดินบริเวณจุดกลับรถ 2 จุด เพราะทล.ห่วงอันตรายหากแชร์เลนร่วมกับรถประเภทอื่นเนื่องจากเขตทางหลวงแคบ แต่ค่าก่อสร้างเพิ่มจุดละประมาณ 500-800 ล้านบาท หรือรวมแล้ว 1-1.6 พันล้านบาท โดยจะทำอุโมงค์ให้รถไฟฟ้าวิ่งลอดถนนคล้ายอุโมงค์รัชโยธิน คาดว่าต้องใช้เวลาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อเปิดประมูลให้ได้ภายในต้นปี 63 และเริ่มก่อสร้างกลางปี 63 ให้แล้วเสร็จภายในปี 66

Advertisement

“รฟม.จะใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP Net Cost โดยรัฐจะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนค่างานโยธาไม่เกิน 17,000-18,000 ล้านบาทให้เอกชนสัมปทาน 30 ปี ค่าโดยสาร18 -137 บาท แต่บริษัทที่ปรึกษาได้เคาะค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 123 บาท ประมาณการผู้โดยสารปีแรก (ปี 66) 3,190 คน/วัน และอีก 30 ปี ในปี 96 จะมีผู้โดยสารใช้บริกร 120,420 คน/วัน” รองผู้ว่าฯ รฟม. แจงค่าโดยสารรถไฟฟ้าเมืองภูเก็ต

ด้านรถไฟฟ้า จ.เชียงใหม่ (แทรม) สายสีแดง (รพ.นครพิงค์บิ๊กซีหางดง) 12 สถานี 12.54 กม. ได้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาแนวทางการก่อสร้างและรูปแบบการลงทุนแล้ว คาดว่าจะลงนามสัญญาภายในเดือนม.ค.นี้

สำหรับจ.นครราชสีมา สายสีเขียวเข้ม ตลาดเซฟวัน-ถึงสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 11.17 กม. 18 สถานี วงเงิน 3.26 หมื่นล้านบาท เตรียมเปิดประกวดราคาหาที่ปรึกษาเช่นกัน ทั้ง 2 โครงการนี้จะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน หากไม่ติดปัญหาจะเริ่มเห็นความชัดเจนในการร่างเงื่อนไขการประมูล หรือทีโออาร์ในปี 62 ด้วยเช่นกัน เพื่อทยอยประมูลพร้อมกันปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ให้ประชาชนได้เห็นการก่อสร้างในปี 63 ทั้ง 3 เส้นทาง

แจงรายละเอียดโครงการแทรมเชียงใหม่ มี 3เส้นทางหลัก รวมระยะทาง 34.93 กม. มูลค่าการลงทุนรวม 95,321.66 ล้านบาท เกือบแสนล้าน ประกอบด้วย 1.สายสีแดง (รพ.นครพิงค์-บิ๊กซีหางดง) 12 สถานี 12.54 กม. 2.สายสีน้ำเงิน (สวนสัตว์เชียงใหม่ห้างพรอมเมนาดา) 13 สถานี 10.47 กม. และ 3.สายสีเขียว (แยกรวมโชคสนามบินเชียงใหม่) 10 สถานี 11.92 กม.

จะนำร่องสายสีแดงก่อนมีทางวิ่งระดับดิน (เขตชานเมืองวิ่งร่วมกับการจราจรปกติบางส่วน) ผสมกับใต้ดิน(เขตเมือง) เริ่มต้นจาก รพ.นครพิงค์ ผ่านศูนย์ราชการเชียงใหม่ และสนามกีฬา 700 ปีต่อไปศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ และเริ่มใช้ทางวิ่งใต้ดินบริเวณแยกข่วงสิงห์สู่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ และท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ เมื่อพ้นเขตท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ จะกลับขึ้นใช้ทางวิ่งบนดินสิ้นสุดที่แยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซีหางดง)

ปิดท้ายกับรถไฟฟ้ารางเบานครราชสีมา ระยะทางรวม 50.09 กม. มี 3 แนวเส้นทาง คือ 1.สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กม. 2.สายสีส้ม ช่วงแยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า 9.81 กม.และ 3.สายสีม่วง ช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 7.14 กม. และส่วนต่อขยาย ช่วงมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล-แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์ 4.48 กม.มี 22 สถานี โดยนำร่องก่อสร้างสายสีเขียวเป็นอันดับแรก

คนต่างจังหวัดยังรอคอยอย่างมีความหวัง ให้ฝันที่จะนั่งรถไฟฟ้าเหมือนคนกรุงเทพฯ ได้เป็นจริง เพื่อยกระดับให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และจูงใจให้ประชาชนหันไปใช้แทนรถยนต์ส่วนตัว ลดปัญหารถติดซึ่งในตัวเมืองของหลายจังหวัดกำลังวิกฤติเหมือนในกรุงเทพฯ

ที่มา : Dailynews

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23