ปลัดป้ายแดงคมนาคม “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” เร่งสางปัญหา 44 โปรเจ็กต์ “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” ลุยกดปุ่มลงทุนกว่า 2 ล้านล้านให้จบในรัฐบาลชุดนี้ ชูระบบราง ทางน้ำ หัวหอกลดต้นทุนโลจิสติกส์ประเทศ รับท่องเที่ยวโต มั่นใจทุกโครงการเดินหน้าตามแผน ทั้งรถไฟฟ้า ทางคู่ ไฮสปีด ด้านอธิบดีกรมทางหลวงคนใหม่ “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” เร่งประมูลงานงบฯปี”62 กว่า 1 แสนล้าน เดินหน้าเปิด PPP ระบบเก็บเงิน พ่วงก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายใหม่ ตั้งไข่ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ผุดทางยกระดับ “ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ”
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และว่าที่ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเข้าไปรับตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ต.ค.นี้ ภารกิจแรกจะเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่บรรจุในแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 2561 (Action Plan) จำนวน 44 โครงการ เงินลงทุนกว่า 2.02 ล้านล้านบาทให้เดินหน้าได้รับการอนุมัติภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดการเบิกจ่ายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย
“ผมไม่ค่อยหนักใจที่จะเข้าไปทำงานที่กระทรวง เพราะคลุกคลีกับงานนโยบายโดยรวมมาอยู่แล้วที่ผ่านมา ทั้งแผนแม่บท โครงการตามยุทธศาสตร์ต่าง ๆ จะขับเคลื่อนงานของกระทรวง แต่จะไปช่วยดูว่าแต่ละโครงการมีปัญหาอะไร ติดตรงไหน จะได้เข้าไปแก้ปัญหา โครงการต่าง ๆ จะได้เดินหน้าเร็วขึ้น เพราะทุกโครงการมีกรอบเวลาที่จะเร่งรัดการใช้เงินอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลก็มีนโยบายให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ลงเข้าไปในท้องถิ่นเพื่อเกิดการจ้างงาน”
มุ่งราง-ทางน้ำลดต้นทุนขนส่ง
นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า โดยจะเร่งรัดงานด้านระบบรางและทางน้ำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เนื่องจากเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งหรือโลจิสติกส์ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ทางถนนและทางอากาศก็ยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นโหมดที่จะรองรับการท่องเที่ยว ทั้งนี้ทุกโหมดการเดินทางจะต้องเชื่อมต่อกันได้ทั้งบก ราง น้ำ และอากาศ ตามนโยบาย One Transport ที่กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งผลักดัน
“ผมมั่นใจว่าแผนที่เราวางไว้มาถูกทาง เพียงแค่ผมเข้าไปขับเคลื่อนให้ทุกโครงการของทุกหน่วยงานเป็นไปตามแนวทางดังกล่าว ซึ่งมั่นใจว่าสามารถเดินหน้าได้ เพราะท่านรัฐมนตรีว่าการ (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ) และรัฐมนตรีช่วยว่าการ (ไพรินทร์ ชูโชติถาวร) เข้าใจเนื้องานอยู่แล้ว การทำงานจะไม่ยาก แต่ไม่ได้เน้นโครงการอะไรมาก เพราะทุกอย่างอยู่ในแผนงานอยู่แล้ว เพียงเร่งรัดเท่านั้น”
อีกภารกิจที่จะต้องดำเนินการไปด้วยกัน คือ การบูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมว่าโครงการไหนหน่วยงานไหนต้องทำก่อนหลังอย่างไรบ้าง เรียงลำดับให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้จัดสรรงบประมาณให้มีความเหมาะสม
เร่งประมูลรถไฟฟ้า-ทางคู่
นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการระบบรางที่จะเน้นผลักดัน มีรถไฟฟ้าสร้างให้ครบ 10 สายทางตามแผนแม่บท โดยเร่งรัดประมูลและก่อสร้างให้เป็นตามกรอบเวลา และเร่งรัดแผนแม่บทรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ระยะที่ 2 ซึ่ง สนข.ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ศึกษา โดยจะมีโครงข่ายสายย่อยเสริมกับสายหลัก เช่น สายสีน้ำตาล สายสีทอง สายสีเทา เป็นต้น
นอกจากนี้จะเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะแรก จำนวน 7 เส้นทาง วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ให้เสร็จตามแผน 2562-2564 ได้แก่ สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, จิระ-ขอนแก่น, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, มาบกะเบา-จิระ, นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และเร่งรัดประมูลทางคู่ระยะที่ 2 อีก 9 เส้นทาง วงเงินลงทุน 393,354 ล้านบาท
ได้แก่ สายใหม่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 จะผลักดันต่อมีบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม, ปากน้ำโพ-เด่นชัย, จิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และเด่นชัย-เชียงใหม่
ลุยไฮสปีดไทย-จีน-ญี่ปุ่น
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเร่งก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,412 ล้านบาท เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. เงินลงทุน 276,225 ล้านบาท ที่ร่วมกับญี่ปุ่นศึกษาและออกแบบรายละเอียด เตรียมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการในเร็ว ๆ นี้ ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา วงเงินลงทุนกว่า 2.2 แสนล้านบาท สามารถเดินหน้าได้ตามแผนงาน จะยื่นประมูลวันที่ 12 พ.ย.นี้
อีกทั้งจะเร่งรัดการลงทุนพัฒนารถไฟฟ้าในภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในหัวเมืองหลัก ที่คาดว่าจะเดินหน้าได้ก่อน คือ รถไฟฟ้าภูเก็ต จากนั้นเป็นเชียงใหม่และนครราชสีมา
ขณะที่ทางน้ำจะเป็นการพัฒนาท่าเรือที่อยู่ในแผน เช่น ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุด เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ท่าเรือสงขลา ท่าเรือระนอง รวมถึงพัฒนาท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า เป็นต้น
ทล.กดปุ่มประมูลถนนแสนล้าน
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และว่าที่อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จะเร่งรัดประมูลและเซ็นสัญญาโครงการในปีงบประมาณ 2562 ที่กรมได้รับจัดสรรกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งกรมทางหลวงจะเริ่มเปิดประมูลตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้ และเซ็นสัญญาเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณให้ทันภายในเดือน ต.ค. 2561
นอกจากนี้จะเร่งเปิดประมูล PPP ระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ให้เอกชนร่วมลงทุนวงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท และจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ลงทุนก่อสร้างทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ ระยะทางประมาณ 13 กม. คาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท พร้อมกับเดินหน้าก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ที่มา : Prachachat