ปรับเกณฑ์ ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ เร่งให้ทันใช้ปี 62

1217

จากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่รัฐบาลเตรียมประกาศใช้จริงในปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ทันสมัยมากขึ้นจากกฎหมายฉบับเก่าที่ประกาศใช้มากว่า 40 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคาดว่าจะมีการแก้กฎเกณฑ์บางข้อเพื่อให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

สนช. แก้เกณฑ์ บ้านเกิน 20 ล้านบาท เสียภาษี
อัตราเพดานภาษีที่รัฐบาลเสนอให้ สนช. พิจารณา แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานภาษี 0.2% เว้นเก็บภาษีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่ดินมูลค่า 50-100 ล้านบาท เก็บภาษี 0.05% และมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท เก็บภาษี 0.10%
2. ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย กำหนดเพดานภาษี 0.5% เว้นเก็บภาษีบ้านหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท มูลค่า 50-100 ล้านบาท เก็บภาษี 0.05% และมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท เก็บภาษี 0.10% สำหรับบ้านหลังที่ 2 มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เก็บภาษี 0.03% มูลค่า 50-100 ล้านบาท เก็บภาษี 0.05% และมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท เก็บภาษี 0.10%
3. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ กำหนดเพดานภาษี 2% โดยมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท เสียภาษี 0.3% มูลค่า 20-50 ล้านบาท เสียภาษี 0.5% มูลค่า 50-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.7% มูลค่า 100-1,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.9% มูลค่า 1,000-3,000 ล้านบาท เสียภาษี 1.2% และมูลค่าเกิน 3,000 ล้านบาท เสียภาษี 1.5%
4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า กำหนดเพดานภาษี 5% หากไม่ใช้ประโยชน์จะเก็บเพิ่มขึ้น 0.5% ทุก ๆ 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 5%

ทั้งนี้ จากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ สนช. ในวาระ 2 นั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าให้ควรเว้นภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยให้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากที่รัฐบาลได้เสนอให้เว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ขยายฐานภาษีได้กว้างขึ้น มีจำนวนคนเสียภาษีมากขึ้น ต่างจากให้เว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท ที่กระทบคนแค่ไม่เกิน 1% รวมทั้งยังจะพิจารณาปรับอัตราภาษีที่ดินเกษตรด้วย เพื่อให้มีความสอดคล้องกันและเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทุกกลุ่ม ป้องกันปัญหาการเลือกปฏิบัติ โดยให้ลดอัตราภาษีเก็บจริงสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยลง เพื่อไม่เป็นภาระกับผู้มีบ้านมากจนเกินไป

dusk-city-wallpaper-wallpaper-3

Advertisement

สศค. แจงข้อเท็จจริง ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่
ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอีกมาก ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบร่างกฎหมายดังกล่าว จึงได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

– ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในปัจจุบันมีภาระต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยจะต้องเสียภาษีจากค่ารายปีหรือค่าเช่าที่สมควรได้ในอัตรา 12.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก ไม่ว่าจะอยู่ใจกลางเมืองหรือในชนบท ซึ่งแต่เดิมเจ้าของธุรกิจจะมีการตกลงต่อรองกับเจ้าหน้าที่ อปท. เพื่อให้เสียภาษีน้อยลงได้ ซึ่งเป็นช่องทางที่อาจก่อให้เกิดการทุจริต แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ที่มาบังคับใช้แทนจะป้องกันปัญหาดังกล่าว เนื่องจากภาษีที่ดินฯ ได้กำหนดให้ใช้มูลค่าของทรัพย์สินเป็นฐานภาษี (โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์)

ทั้งนี้ จากการลองเปรียบเทียบภาระภาษีใหม่กับเก่าพบว่า SMEs ส่วนใหญ่ จะมีภาระภาษีใกล้เคียงกับของเดิม สำหรับธุรกิจบางประเภทที่เป็นกิจการสาธารณะ เช่น สถานศึกษาเอกชนทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เป็นต้น รัฐบาลก็จะให้การดูแลเป็นพิเศษ โดยจะตราพระราชกฤษฎีกาบรรเทาภาษีให้เป็นการเฉพาะ

– มีการจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ โดยจะจัดเก็บภาษีในอัตราของที่อยู่อาศัยในส่วนที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย และเก็บภาษีในอัตราพาณิชยกรรมเฉพาะพื้นที่ที่ใช้ค้าขายเท่านั้น ดังนั้น หากเจ้าของมีพื้นที่บ้าน 200 ตารางวา อยู่ใจกลางเมืองแล้วแบ่งพื้นที่หน้าบ้านทำร้านค้า 20 ตารางวา ก็จะเสียภาษีในอัตราพาณิชยกรรมสำหรับพื้นที่ 20 ตารางวา ที่ใช้ทำการค้าเท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่เหลือที่ใช้อยู่อาศัยก็จะเสียในอัตราที่อยู่อาศัย

– ฐานภาษีของภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ จะคิดเฉพาะมูลค่าของที่ดินและอาคาร โดยจะไม่นำมูลค่าของเครื่องจักรมารวมคำนวณ ซึ่งแตกต่างจากการคำนวณภาษีโรงเรือนฯ ในปัจจุบัน ดังนั้น มูลค่าของทรัพย์สินที่นำมาคำนวณภาษีจะลดลงมากกว่าเดิม

– ในกรณีของที่ดินที่ถูกรอนสิทธิ์ด้วยกฎหมายอื่น เช่น บริเวณรอบพื้นที่สนามบินที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดภัยทางการบิน หรือพื้นที่ที่มีสายไฟแรงสูงพาดผ่าน จะมีการบรรเทาภาระภาษีให้กับที่ดินดังกล่าว นอกจากนี้ ในกรณีของกฎหมายผังเมือง ภาษีที่ดินฯ ยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปตามที่กฎหมายผังเมืองระบุไว้ เช่น ในเขตที่กฎหมายผังเมืองกำหนดให้เป็นเขตเกษตรกรรม ห้ามปลูกสร้างอาคารขนาดใหญ่ เมื่อเจ้าของที่ดินที่นำที่ดินในบริเวณนั้นมาทำการเกษตร ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีตามที่กฎหมายกำหนดอีกด้วย

– การกำหนดโทษ ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ยังคงกำหนดโทษเช่นเดียวกับกฎหมายภาษีโรงเรือนฯ ในกรณีที่ผู้เสียภาษีขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกรณีที่ผู้เสียภาษีเจตนาแจ้งความเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เพียงแค่มีการปรับปรุงอัตราโทษให้สอดคล้องกับกฎหมายภาษีอื่น ๆ ในปัจจุบันเท่านั้น โดยไม่มีโทษจำคุกในกรณีจ่ายช้าหรือไม่จ่ายภาษี

แม้ว่าอัตราการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่แท้จริงยังไม่ได้กำหนดชัดเจน แต่ทาง สนช. ยืนยันว่าอัตราที่จะจัดเก็บจริงนั้นจะต่ำมาก เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทต่าง ๆ โดย สนช. จะเร่งพิจารณาวาระ 3 ให้จบภายในปีนี้ ก่อนผลักดันกฎหมายให้ทันบังคับใช้ได้ปี 2562

ที่มา : http://www.ddproperty.com/

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23