ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 ก.ค.)เวลา 09.00 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดการทดลองให้บริการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และในการนี้ นายศักดิ์สยามและคณะ ได้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากสถานีสนามไชยไปยังสถานีท่าพระ จากนั้นเวลา 09.59 น. นายศักดิ์สยาม ได้กดปุ่มเปิดประตูรถไฟฟ้าเที่ยวแรก เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเปิดทดลองให้บริการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค พร้อมทั้งได้ทักทายประชาชนกลุ่มแรกที่มารอขึ้นรถไฟฟ้า ณ สถานีท่าพระ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
โดยนายศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลังแถลงนโยบายรัฐบาลแล้วเสร็จ ตนและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จะประชุมทุกหน่วยงานในสังกัดเพื่อสรุปการทำงานอีกครั้งในวันที่ 30 ก.ค.นี้ โดยเฉพาะนโยบายช่วยค่าครองชีพประชาชน กระทรวงฯ จะต้องมีการทบทวนแนวทางช่วยเหลือในทุกระบบขนส่ง ไม่เพียงรถไฟฟ้า เบื้องต้นให้เวลาหัวหน้าหน่วยงานศึกษาความเหมาะสมให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ซึ่งจะทำให้เห็นความชัดเจนของนโยบายลดค่าครองชีพระบบขนส่งมากขึ้น
สำหรับระบบรถไฟฟ้า เบื้องต้นประเมินว่าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – เตาปูน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ถือเป็นระบบขนส่งที่ภาครัฐบริหารอยู่ อาจจะเป็นโครงการแรกที่สามารถนำร่องปรับลดราคาค่าโดยสารได้ก่อนภายในปีนี้ ส่วนโครงการอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้สัญญาร่วมทุนเอกชน ก็อาจจะต้องขอความร่วมมือไปยังเอกชน เพื่อจัดทำโปรโมชั่นให้ประชาชนบ้าง แต่รูปแบบทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องขอหารือร่วมกับทุกฝ่าย จะเจรจาอีกรอบก่อน
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า การเปิดใช้สถานีดังกล่าวเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนมากขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาจราจรโดยเฉพาะการเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในย่านดังกล่าวเช่น ย่านเยาวราช จะสะดวกมากขึ้น เนื่องจากย่านดังกล่าวเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว หากเดินทางสะดวกสบายก็จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจับจ่ายย่านนี้มากขึ้นด้วย
โดยหากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 4- 8 แสนคนต่อวัน ส่วนประเด็นค่าโดยสารอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการลดค่าโดยสาร แต่ต้องดูด้วยความละเอียดรอบคอบไม่ให้กระทบต่อเอกชนที่เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง ขณะเดียวกันก็ไม่ให้กระทบต่องบประมาณแผ่นดินที่ต้องนำมาอุดหนุนภายหลัง แต่ก็มีแนวทางอื่น ๆ ในการช่วยเหลือเพื่อลดค่าครองชีพในส่วนของค่าโดยสารของประชาชนแต่ขอเวลาศึกษาก่อนซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นถึงจากได้ประชุมแบ่งงานกันคาดว่าจะชัดเจนได้ภายใน 1 เดือน
“เรื่องราคาค่าโดยสารต้องยอมรับว่าบางโครงการที่ภาครัฐไม่ได้ลงทุนเอง 100% ก็มีข้อจำกัดในการเข้าไปกำหนดราคาค่าโดยสารเอง แต่การที่จะลดราคาหรือให้เดินทางฟรีก็ไม่ใช่แนวทางที่ดีเพราะสุดท้ายก็ต้องใช้ภาษีหรืองบประมาณของแผ่นดินไปอุดหนุนอยู่ดี ส่วนโครงการที่เอกชนลงทุนก็ต้องให้สิทธิ์เอกชนในการดำเนินการตามสัญญาแต่ก็มีหนทางที่จะหารือร่วมกันในการลดราคาค่าโดยสารให้กับประชาชนโดยไม่กระทบต่อสัญญาเช่นการจัดโปรโมชั่นแต่ขอเวลาศึกษาก่อน” นายศักดิ์สยาม กล่าว
นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเมโทร เน็ตเวิร์ค จำกัด(BMN) ผู้ให้บริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เปิดเผยว่า ในส่วนของการให้บริการเชิงพาณิชย์ทั้งในสถานี และ ตัวขบวนรถไฟฟ้านั้น ทาง BMN จะเป็นผู้บริหารรายเดียว ซึ่งในหลายๆพื้นที่ได้ให้บริการเชิงพาณิชย์ไปหมดแล้วโดยในปีนี้จะเริ่มให้บริการในส่วนต่อขยาย โดยภาพรวมการหารายได้ในเชิงพาณิชย์ปีนี้คาดว่าจะรับรู้รายได้ประมาณ 700 ล้านบาท/ปี และคาดว่าเมื่อเปิดรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายถึง สถานีท่าพระ ปี63จะมีรายได้ในส่วนพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก10%ในภาพรวม
น.ส. สุนีย์ ฉันทศาสตร์รัศมี อายุ53 ปี ประชาชนย่านฝั่งธน กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่รัฐบาลเปิดใช้รถไฟสายดังกล่าวเพราะทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้นประหยัดเวลาได้มากเพราะเดิมหากจะเดินทางจากย่านดาวคะนองไปพรานนกใช้เวลานานเกิน1 ชม. แต่เมื่อมีรถไฟฟ้าสายดังกล่าวก็ใช้เวลาไม่เกิน10นาที เพราะเดิมต้องไปขึ้นรถที่สถานีวงเวียนใหญ่หรือตลาดพลู แต่เมื่อมีสายดังกล่าวขึ้นก็สะดวกมากขึ้น แต่สิ่งที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการคือการลดราคาค่าโดยสารลงเพราะหากราคาสูงแต่เส้นทางยังไม่ครอบคลุมสุดท้ายประชาชนก็ไม่อยากใช้บริการขนส่งธารณะแต่จะใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือบริการแท็กซี่ซึ่งก็ทำให้รถติดเหมือนเดิม
สำหรับพิธีเปิดมี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช. คมนาคม นายถาวร เสนเนียม รมช. คมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) และโฆษกกระทรวงคมนาคม นายสมัย โชติสกุล รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านอำนวยการ) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) คณะผู้บริหาร รฟม. และ BEM เข้าร่วมพิธี ณ สถานีสนามไชย กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม รฟม. และ BEM ได้เร่งรัดการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค ให้แล้วโดยเร็ว และสามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการได้ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2562 เป็นวันแรก เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย จากสถานีวัดมังกร – สถานีท่าพระ รวมจำนวน 5 สถานี (ได้แก่ สถานีวัดมังกร สถานีสามยอด สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ และสถานีท่าพระ) โดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 28 กันยายน 2562 เวลา 10.00-16.00 น. โดยมีรถไฟฟ้า 3 ขบวน ให้บริการแบบ วิ่งไป-กลับ จากสถานีหัวลำโพงถึงสถานีท่าพระ ระยะห่างระหว่างขบวนประมาณ 8 นาที ซึ่งผู้โดยสารที่เดินทางมาจากสายสีน้ำเงิน (สถานีเตาปูน – สถานีหัวลำโพง) จะต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีหัวลำโพงเพื่อเดินทางไปยังสถานีในสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (สถานีวัดมังกร – สถานีท่าพระ)
กรณีเดินทางระหว่างสถานีวัดมังกรถึงสถานีท่าพระ (รวมจำนวน 5 สถานี) จะไม่คิดค่าโดยสาร โดยใช้เหรียญหรือบัตรโดยสารรถไฟฟ้า MRT เดินทางในระบบรถไฟฟ้าผ่านประตูอัตโนมัติได้ตามปกติ ทั้งนี้ ออกเหรียญโดยสารได้ที่เครื่องออกเหรียญโดยสารอัตโนมัติหรือห้องออกบัตรโดยสารทุกสถานี
กรณีเดินทางเข้ามาโดยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (สถานีเตาปูน – สถานีหัวลำโพง) จะคิดอัตราค่าโดยสารตั้งแต่สถานีแรกที่อัตรา 16 บาท โดยค่าโดยสารจะเพิ่มตามระยะทาง อัตราสูงสุด 42 บาท และสามารถเดินทางเชื่อมต่อกับสายสีม่วงได้ตามปกติโดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาท และเมื่อผู้โดยสารแตะตั๋วโดยสารที่ประตูอัตโนมัติแล้วสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 180 นาที โดยการออกตั๋วโดยสารและการใช้ระบบรถไฟฟ้าเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัท BEM กำหนด
ทั้งนี้ หลังจากเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการแล้ว กระทรวงคมนาคม รฟม. และ BEM จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค อย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติจากสถานีหัวลำโพง – สถานีหลักสอง ในวันที่ 29 กันยายน 2562 เป็นต้นไป และในต้นปี 2563 จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน – ท่าพระ ซึ่งจะมีเส้นทางเชื่อมต่อเป็นวงกลม โดยมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม (Interchange Station) นอกจากนี้ เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังมีจุดที่เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทั้งทางรางและทางน้ำในเขตเมือง จึงทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ที่มา : khaosod.co.th