นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้ ปตท. ได้มอบหมายให้ บริษัท เอนเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ จำกัด เข้าไปซื้อซองและจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาว่าจะลงทุนหรือไม่ ลงทุนรูปแบบใด และจะร่วมลงทุนกับใคร คาดว่าจะมีความชัดเจนแผนลงทุนในเดือน พ.ย. นี้
ขณะที่ ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 โดยผลประกอบการเฉพาะ ปตท. ครึ่งปีแรกของปี นี้มีกำไร 33,218 ล้านบาท และเมื่อรับรู้ผลกำไรของบริษัทในกลุ่มตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 36,599 ล้านบาท ทำให้งบการเงินรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 69,817 ล้านบาท (ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.89) คิดเป็นกำไร 2.43 บาทต่อหุ้น
ปัจจัยสำคัญเชิงบวกและเชิงลบที่ทำให้ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2561 ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ต่ำกว่าครึ่งปีแรกของปี 2560 ได้แก่ กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 140,438 เป็น 170,870 ล้านบาท จากราคาน้ำมันดิบดูไบและราคาปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานปกติโดยรวมดีขึ้น, การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (Productivity Improvement) สร้างกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี 20,721 ล้านบาท ใน 1H/2561 ไม่มีรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Non-recurring Items) ขณะที่ใน 1H/2560 ปตท. มี Non-recurring Items จากรายได้เงินปันผลจากกองทุนรวม EPIF 4,310 ล้านบาท และกำไรจากการขายเงินลงทุนในกองทุนรวม 990 ล้านบาท ขณะที่ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ลดลงจาก 7,822 เป็น 2,276 ล้านบาท จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงภาษีเงินได้ เพิ่มขึ้น 14,650 ล้านบาท จาก 11,951 ล้านบาท ใน 1H/2560 เป็น 26,601 ล้านบาท ใน 1H/2561 โดยหลักมาจาก PTTEP ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ
นายเทวินทร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกลุ่ม ปตท. มีกระแสเงินสดรวมประมาณ 3.9 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กว่า 1 แสนล้านบาท และในส่วนของ ปตท. เกือบ 1 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยกระแสเงินสดดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนโครงการต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่ง ปตท. ได้มองโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ไว้จำนวนมาก
ทั้งนี้ ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น การลงทุนในอนาคตของ ปตท. จะต้องมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ เศรษฐกิจชุมชน และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ด้วย สำหรับโครงการใหม่ ๆ ที่คาดว่าจะเข้าไปลงทุนในอนาคต ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา), เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart city, รถยนต์ไฟฟ้า (EV), ระบบกักเก็บสำรองไฟฟ้า (Energy Storage) และการบริหารจัดการวัตถุดิบของบริษันในกลุ่มให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสูงสุด เป็นต้น
ที่มา : Thansettakij และ TerraBKK