รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจฉบับล่าสุดของธนาคารโลกระบุว่า แม้ว่าไทยมีมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างดี แต่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ยังถดถอยหนักที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คาดใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีในการฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนช่วงก่อนมีโรคระบาด
รายงานในหัวข้อ “From Containment to Recovery” ฉบับนี้ (“จากควบคุมการระบาดสู่การฟื้นฟู”) เผยให้เห็นว่าประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 กับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ หลังจากการอุบัติของโรคระบาดดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะพลักให้ประชาชนยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 8 ล้านคนในภูมิภาคจากเดิมที่มีอยู่ราว 30 ล้านคนที่ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน ที่คิดจากรายได้ต่อวันไม่เกิน 5.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 175 บาทต่อวัน
ประเด็นที่น่าสนใจในรายงานฉบับดังกล่าว คือ การประเมินอัตราการเติบโตของไทยโดยธนาคารโลกที่ระบุว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตน้อยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แม้ว่าจะเป็นชาติที่มีมาตรการรับมือต่อการระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นอย่างดีก็ตาม
ธนาคารโลกประเมินว่าอัตราการเติบโตของไทยหรือ จีดีพี ในปีนี้ในระดับพื้นฐานจะอยู่ที่ติดลบ 8.3% จากปีที่แล้ว แต่หากเป็นในระดับต่ำสุดจะติดลบ 10.4% หากมีการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 อย่างไรก็ตามจากตัวเลขประมาณการณ์ดังกล่าวก็ถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน (ไม่รวมกับบรูไนและสิงคโปร์)
ส่วนเวียดนามถือว่าเป็นชาติที่สามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดีในอัตราการเติบโตเป็นบวกคือ ในระดับพื้นฐานอยู่ที่ 2.8% จากปีก่อน และในระดับต่ำสุดอยู่ที่ 1.5%
สำหรับภาพรวมของจีดีพีในภูมิภาคอาเซียนในปีนี้ ธนาคารโลกประเมินว่าหากเป็นระดับพื้นฐานน่าจะอยู่ที่ติดลบ 3.5% 5 ถึงติดลบ 4.7%
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลก กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างแรงในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นผลจากการปิดประเทศหรือ ล็อคดาวน์ ซึ่งส่งผลต่อภาคแรงงานโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ และกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น เช่น ภัยแล้งที่ลากยาวมาตั้งแต่ปลายปี 2562 รวมทั้งน้ำท่วม และยังมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีล่าช้า
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ยังคาดการณ์จะยังไม่เห็นการฟื้นตัวในปีนี้ แต่จะใช้เวลาราว 3 ปี กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวยอย่างช้า ๆ จนกลับไปยังจุดเดิมก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19
ไทยใช้งบเยียวยาสูงสุดในภูมิภาค แต่ยังไม่ตรงจุดมากนัก
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าวว่า มาตรการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ของไทยถือว่าค่อนข้างดีมาก และมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในด้านสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งมาตรการเยียวยาประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าไทยจัดสรรงบประมาณมากถึง 13% ของจีดีพีของปีนี้ ถือว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
แต่ธนาคารโลกมองว่ามาตรการดังกล่าวจะต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากกว่านี้ โดยอาจจะต้องประเมินจากนโยบายที่เคยทำมาแล้วเพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและตรงจุดมากขึ้น
“การเยียวยาประชาชนต้องมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้มีอุปสงค์อย่างแท้จริง และจะสามารถทำให้สร้างความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น” เธอกล่าว
นอกจากนี้ ผอ.ธนาคารโลกประจำประเทศไทยยังแนะว่า ให้รัฐบาลให้ความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะกลางและยาว เช่นนโยบายเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งพัฒนาทุนมนุษย์ (human capital) เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสร้างงานเพิ่มขึ้นและพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว
ครึ่งปีแรกการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่างชาติลดลง 34%
จากรายงานสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างเดือน ม.ค. – มิ.ย. โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 459 โครงการ จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 5% จากปีที่แล้วโดยมีมูลค่ารวมราว 7.59 หมื่นล้านบาท แต่หากเปรียบเทียบในแง่มูลค่าการลงทุนแล้วพบว่า หกเดือนแรกในปีนี้่มีมูลค่าลดลงจากปีที่ก่อนที่มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าลดลงถึง 34%
สำหรับจำนวนโครงการต่างชาติที่ยื่นขอรับการส่งเสริมส่วนใหญ่เป็นหมวดบริการและสาธารณูปโภครวม 151 โครงการ คิด 33% ของจำนวนโครงการต่างชาติที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น รองลงมาเป็นหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 113 โครงการ คิดเป็น 25%
ครม. เห็นชอบต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึง 31 ต.ค.
วันนี้ (29 ก.ย.)คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค. 2565 ตามที่ ศบค.ชุดใหญ่เสนอ ซึ่งนับเป็นการต่ออายุ พ.ร.ก.ตรั้งที่ 6 นับตั้งแต่ใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มี.ค.
มติครม.นี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ผู้ติดเชื้อวันนี้ ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 14 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และอยู่ในสถานกักกันทีรัฐจัดให้ ส่งผลให้ผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 3,559 ราย กลับบ้านแล้ว 3,370 ราย ยังคงรักษาตัวในรพ. 130 ราย และเสียชีวิต 59 ราย
ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาแล้วกี่ครั้ง
นับตั้งไทยต้องออกมาตรการรับมือกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นในทุกมุมโลก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐนำมาใช้ในการป้องกัน และควบคุมโรค โดย ศบค. และรัฐบาลให้เหตุผลว่าเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานมากกว่า พ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อ
สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มี.ค. และมีการต่ออายุมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง ครั้งนี้จึงนับเป็นการต่ออายุครั้งที่ 6 โดยรัฐบาลระบุว่ามีไว้เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19
- ประกาศครั้งแรก: 26 มี.ค. – 30 เม.ย.
- ต่ออายุครั้งที่ 1: 1 พ.ค. – 31 พ.ค.
- ต่ออายุครั้งที่ 2: 1 มิ.ย. – 30 มิ.ย.
- ต่ออายุครั้งที่ 3: 1 ก.ค. – 31 ก.ค.
- ต่ออายุครั้งที่ 4: 1 ส.ค. – 31 ส.ค.
- ต่ออายุครั้งที่ 5: 1 ก.ย. – 30 ก.ย.
ที่มา : www.bbc.com