หอการค้าชุมพรเตรียมผลักดันอีกรอบ ขอสร้างท่าเรือนํ้าลึก 4,000 ล้านบาท หลังประชุม ครม.สัญจร กลางปีที่แล้วไม่เห็นชอบ ชี้! เป็นกุญแจสำคัญเชื่อมโยงการค้าการขนส่งอ่าวไทย-อันดามัน หนุนการลงทุนในภูมิภาค
นายสุพงศ์ เอื้ออารี ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า ทางหอการค้าและภาคเอกชน จ.ชุมพร เตรียมเดินหน้าผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึก จ.ชุมพร เสนอรัฐบาลอีกรอบ แม้ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ชุมพร เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 โครงการนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่ทุกฝ่ายในพื้นที่เห็นว่า การก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกชุมพรจะเป็นกุญแจในการพัฒนาภาคใต้
เนื่องจากเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน และกับอนุภูมิภาคกลุ่มความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ต่อไป ซึ่งท่าเรือนํ้าลึกชุมพรถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวขับเคลื่อนต่อไปได้และเต็มระบบ นอกจากนี้ ยังรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
ปัจจุบัน กรมเจ้าท่าได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่บางสน แหลมคอกวาง และเขาพระตำหนัก ซึ่งที่เหมาะสมที่สุด คือ ที่แหลมคอกวาง มูลค่าการลงทุนไม่ตํ่ากว่า 4,000 ล้านบาท
ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร กล่าวอีกว่า ท่าเรือชุมพรใหม่นี้รองรับสินค้าในระดับภูมิภาคของภาคใต้ (ชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช) ไปยังท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง โดยสามารถรับสินค้าจากแหล่งต่าง ๆ เช่น เกาะสอง บกเปี้ยน มะริด เป็นต้น เข้ามาแปรรูปที่ชุมพร และสามารถเป็นท่าเรือขนส่งและกระจายสินค้าแปรรูปไปยังทั้งทางตะวันตกฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อไปยังยุโรป อินเดีย และฝั่งตะวันออกไปยังเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น
ที่ประชุม ครม.สัญจร เมื่อ วันที่ 21 ส.ค. 2561 ที่ จ.ชุมพร ได้รับทราบการประชุมของนายกรัฐมนตรีกับตัวแทนพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรี ธรรมราช พัทลุง) และฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล) ที่เห็นชอบกรอบแนวคิดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ 5 ด้านล่าสุด ครม. เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 เห็นชอบให้ศึกษารูปแบบการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor – SEC) ขีดวง 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ต้นแบบการพัฒนาศูนย์กลางความเจริญของแต่ละภูมิภาค ใน 4 กรอบการพัฒนา