ต่อขยาย ‘รางเบา’ ภูเก็ต เชื่อมกะทู้-ป่าตอง

1323
รถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต

ท้องถิ่น-เอกชนชง รฟม.ขอสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ตถึงกะทู้ ก่อนลากยาวถึงเมืองป่าตอง จากเดิมสิ้นสุดแค่ ห้าแยกฉลอง เผย เมืองเก่าคนโหรงเหรงไม่คุ้มทุน

โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา ภูเก็ต (สนามบิน-ท่าเรือฉลอง) ระยะทาง 42 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท นอกจากช่วยร่นระยะการเดินทางให้สะดวกรวดเร็วแล้ว ยังได้รับ
อานิสงส์ เอื้อทุนทั้งที่อยู่อาศัย โรงแรม ค้าปลีก ให้เกาะไปตามแนวเส้นทาง นอกจากทำเลชายทะเล

อย่างไรก็ตาม คนพื้นที่ ต้องการขยายเส้นทางให้เชื่อมโยงไปยังโซนท่องเที่ยว กะทู้ และ เสนอสร้างส่วนต่อขยายต่อไปถึงเมืองป่าตอง เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการท่องเที่ยว ของภูเก็ต ซึ่งจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวให้ใช้เส้นทางเพิ่มมากขึ้น ขณะการเชื่อมโยงเส้นทางเข้าตัวเมืองภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองเก่ามองว่าอาจไม่คุ้มทุน เนื่องจากปริมาณคนบางเบา

นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวว่า เตรียมเสนอการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้ต่อขยายแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ตที่เดิมไปสิ้นสุดที่ห้าแยกฉลอง ก่อนเข้าเขตตัวเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อสร้างส่วนต่อขยายอีกหนึ่งเส้นทางเริ่มจากสถานีบ้านบางคูไปถึงอำเภอกะทู้ ระยะทางประมาณ 5 กม.ก่อนเข้าสู่อุโมงค์ เส้นทางกะทู้-ป่าตอง แต่ในช่วงแรกนี้หากไม่สามารถใช้แนวเส้นทางในช่วงอุโมงค์ร่วมกับรถยนต์ได้ขอให้แนวเส้นทาง
สิ้นสุดที่กะทู้ก่อนที่ในระยะต่อไปจะสร้างส่วนต่อขยายเข้าสู่เมืองป่าตอง

“เดิมมีการศึกษาแนวเส้นทางให้เชื่อมโยงถึงป่าตองรองรับไว้แล้ว แต่เนื่องจากต้องขึ้นเขานาคเกิดจึงเห็นว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน ล่าสุดรฟม.มีการปรับแนวเส้นทางไปสิ้นสุดที่ห้าแยกฉลองเพื่อจะเชื่อมไปสู่เขตเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งหากดูความคุ้มค่านักท่องเที่ยวจะเดินทางมาถึงป่าตองมากกว่าจะเข้าเมืองภูเก็ต เทศบาลเมืองป่าตองจึงเสนอให้สร้างส่วนต่อขยายเชื่อมไปยังป่าตองอีกเส้นทางหนึ่งด้วยเพื่อบริการนักท่องเที่ยว

Advertisement

อีกทั้งป่าตองมีแผนพัฒนาทางธุรกิจอีกหลายโครงการ ลงทุนหลักหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะศูนย์ประชุมขนาดใหญ่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับป่าตองและประเทศไทยได้อีกมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงควรสร้างระบบขนส่งมวลชนที่สามารถขนคนได้จำนวนมากอย่างรถไฟฟ้ามารองรับไว้ตั้งแต่วันนี้ โดยวันที่ 22 กรกฎาคมนี้เทศบาลเมืองป่าตองจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือถึงแนวทางการพัฒนารถไฟฟ้ารางเบาเพื่อผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป”

นายบุญ ยงสกุล อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า กรณีที่ภาครัฐเร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตยังเห็นว่าจะเป็นปัจจัยบวกแม้ว่าจะไม่มากถึง 100% เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะไปตามชายหาดมากกว่าจะอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง ดังนั้นผู้ที่เข้าเมืองจึงเป็นคนในท้องถิ่นเป็นหลัก จึงฝากถึงภาครัฐว่าการลงทุนในครั้งนี้ตอบโจทย์ความต้องการได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ตัวอย่าง แนวเส้นทางในกรุงเทพฯสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ แต่ในพื้นที่ภูเก็ตคอนโดมิเนียมจะไปอยู่ตามชายหาดมากกว่าจะเน้นเกาะตามแนวรถไฟฟ้า หากเป็นหมู่บ้านยังมองว่าคนไทยจะอยู่อาศัยเป็นหลัก ดังนั้นจึงจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของภูเก็ตเป็นเมืองที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวใช้บริการรถไฟฟ้ากระจายไปสู่ถนนเทพกระษัตรี เชิงทะเล ป่าตอง และแยกบายพาส ร่นระยะเวลาและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยเฉพาะหากการจราจรติดขัดสามารถเลือกเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้อีกด้วย

 “ภูเก็ตถือว่ามีรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เกือบ 2 แสนล้านบาทจากการท่องเที่ยว ดังนั้นหากรัฐจะต้องใช้งบมาสนับสนุนโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจึงไม่ควรมองว่าเป็นภาระของรัฐบาล เนื่องจากภูเก็ตจะสามารถเพิ่มรายได้จาก 2 แสนล้านบาทเป็น 2.5 หรือ 3 แสนล้านบาทได้หากมีรถไฟฟ้าให้บริการภายในระยะเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น”  

ประการสำคัญรถไฟฟ้ายังจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งจากในพื้นที่และจากส่วนกลาง ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะร่วมลงทุนกับทุนท้องถิ่นในภูเก็ตจึงมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น ซึ่งกรณีที่รฟม.เป็นเจ้าภาพหลักยังสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงยืนยันว่าทุนท้องถิ่นพร้อมร่วมกับรฟม.ผลักดันการลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดภูเก็ต     

แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดภูเก็ตรายหนึ่งกล่าวว่า หากมองถึงพื้นที่ที่จะได้อานิสงส์ของการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ตโดยเฉพาะจุดตัดและสถานีสำคัญพบว่าจะมีห้างสรรพสินค้าเปิดให้บริการตามมา หรือจะเกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยรูปแบบต่างๆขึ้นได้ทั้งในเส้นทางพื้นที่ถลางที่จะไปสู่หาดสุรินทร์ หาดกมลา ลากูน่าภูเก็ต หรือจุดบายพาส เกาะแก้ว ที่สามารถแยกไปในเมืองหรือใช้เส้นทางบายพาสไปสู่จุดอื่นๆได้อีกด้วย

เวนคืนที่ดินเพิ่ม 8 ไร่ แยกสนามบิน

ภายหลังหารือกรมทางหลวง เกี่ยวกับการปรับ เส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา ภูเก็ต สนามบิน-ท่าเรือฉลอง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า แนวเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ตปัจจุบัน ยังยึดเส้นทางเดิมตามที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษา โดยวิ่งจากสนามบินภูเก็ต ไปตามเส้นทางทางหลวงหมายเลข 4031 เชื่อมทางหลวงหมายเลข 4036 เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 402  (สายโคกกลอย-เมืองภูเก็ต) หรือถนนเทพกระษัตรี ข้ามสะพานสารสิน และมุ่งหน้าไปยังสถานีปลายทางท่าเรือฉลอง

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้หารือกับกรมทางหลวง เนื่องจากต้องเวนคืนเขตทางเพิ่ม บริเวณทางแยกสนามบิน หรือทางหลวง 4026 ตัด ทางหลวง 402 จำนวนกว่า 8 ไร่ เป็นแนวยาว 2 กิโลเมตรกระทบบ้านเรือนประชาชนบ้างพอสมควร

ส่วนการคัดเลือกเอกชน ร่วมลงทุนรูปแบบพีพีพี ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า  ความคืบหน้าล่าสุดรฟม.อยู่ระหว่างออกแบบ และสามารถก่อสร้างได้ในปี 2564

รถไฟฟ้าเส้นนี้นอกจาก ช่วยให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว แบ่งเบาปัญหาจราจร ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ตลอดสาย สูงสุดเพียง 130 บาท จากสนามบินภูเก็ต-ท่าเรือฉลองระยะทาง 42 กิโลเมตร เดิมต้องเสียค่าโดยสาร รถสาธารณะ เข้าสนามบิน เฉพาะคนไทย ประมาณหัวละ 500 บาท ต่างชาติ ซึ่งอาจจะเสียแพงกว่านอกจากนี้แล้วเจ้าของที่ดิน ยังได้อานิสงส์จากการพัฒนารอบ สถานี ตามเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มมูลค่าที่ดินจากปกติ มีราคาสูงอยู่แล้ว

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,487 วันที่ 14-17 กรกฎาคม 2562

ที่มา : www.thansettakij.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23