ภาพรวมตลาดสำนักงาน ประจำไตรมาส 1 ปี 2564

3156
MBK Skywalk view from above in Bangkok Thailand, South East Asia

นายมาร์คัส เบอร์เทนชอว์ กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายตัวแทนนายหน้า บริษัท ไนท์​แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เมื่อต้นปี 2564 ตัวชี้วัดตลาดสำคัญต่างๆ เผยให้เห็นว่าตลาดกำลังปรับตัวลงและเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ผู้เช่ามีความได้เปรียบมากขึ้น เราสังเกตเห็นอัตราการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ว่างในกรุงเทพทุกระดับเกรดอาคาร เจ้าของอาคารเริ่มมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีสิ่งจูงใจที่ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น การยกเว้นค่าเช่า การจ่ายค่าเช่าเพียงครึ่งหนึ่ง และการให้ส่วนลดค่าเช่าแก่ผู้เช่ารายใหม่และผู้เช่ารายเดิมเมื่อทำการต่ออายุสัญญาเช่า หากบริษัทของคุณใกล้จะหมดอายุสัญญาเช่าในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เราแนะนำให้คุณปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของเรา ว่าเราสามารถช่วยอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าค่าใช้จ่ายพื้นที่สำนักงานในอนาคตของคุณสอดคล้องกับแนวโน้มตลาด”

ตัวชี้วัดตลาดสำนักงาน

ภาพรวมเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยหดตัวลง 2.6% เมื่อเทียบปีต่อปี ในไตรมาส 1 ปี 2564 อย่างไรก็ตาม ยังนับเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันที่ค่าจีดีพีลดลงน้อยลงกว่าครั้งก่อน ปัจจัยหลักของการปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของการผลิตนอกภาคเกษตร การเร่งการลงทุนภายในประเทศ รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น และการปรับปรุงการส่งออกสินค้า

รายจ่ายเพื่อการ​อุปโภคบริโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 2.1% ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้น 2.2% ค่าตอบแทนพนักงาน การซื้อจากรัฐวิสาหกิจและจากต่างประเทศ รวมถึงเงินเพื่อสวัสดิการสังคมปรับเพิ่มขึ้น 1.2% 5.7% และ 2% ตามลำดับ สำหรับในภาคเอกชน การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคลดลงไป 0.5% จากเดิมเติบโตถึง 0.9% ในไตรมาสก่อน

มูลค่าการบริโภคของภาคเอกชนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการกลับมาของโรคระบาดใหญ่ในช่วงปลายปี 2563 ภาคการลงทุนรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.3% โดยฟื้นตัวจากการหดตัวที่ 2.5% ในไตรมาส 4 ปี 2563 การลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วง 5 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 3%  เนื่องจากมีการขยายตัวทางการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ ในทางกลับกัน การลงทุนของภาครัฐเพิ่มขึ้น 19.6% การลงทุนของภาครัฐด้านการก่อสร้าง และเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวกว่า 10% ซึ่งเป็นผลมาจากความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ สำหรับในภาคการส่งออกสินค้าและบริการลดลงไป 10.5% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่หดลง 21.5% ในไตรมาสก่อน การส่งออกสินค้าเติบโตขึ้น 3.2% ตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ทั่วโลกสำหรับสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น อย่างไรก็ตาม รายรับจากภาคบริการยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงไป 63.5% เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังคงมีจำกัด เมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าและบริการที่ขยายตัว 1.7% การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 6.4% โดยได้รับแรงหนุนจากการนำเข้าสินค้าด้านอุปโภคบริโภคและสินค้าทุน

หากมองในเชิงบวก ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) ในเดือนมีนาคมแสดงการเพิ่มขึ้นถึง 50.1 ซึ่งเกินระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2562 ทั้งนี้หมายความว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับดีขึ้นเนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากระบุว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจของตนในเดือนนี้สูงกว่าเดือนก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้นเมื่อความเชื่อมั่นปรับดีขึ้นในส่วนประกอบเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสั่งซื้อสินค้าและดัชนีย่อยทางการผลิต นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่คาดการณ์ไว้สำหรับช่วง 3 เดือนถูกบันทึกไว้ที่ 54.1 สำหรับธุรกิจนอกภาคการผลิต ดัชนีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

Advertisement

กราฟที่ 1
อุปทานสำนักงานในกรุงเทพฯ
ตารางเมตร

อุปทาน

จากผลการวิจัยของไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย ประจำไตรมาส 1 ปี 2564 เผยว่า อุปทานรวมของพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นเป็น 5.42 ล้านตร.ม. เนื่องจากมีอาคารสำนักงานใหม่หนึ่งแห่งมีพื้นที่เช่าสุทธิ 24,000 ตร.ม.ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยในปี 2563 มีอุปทานทั้งหมดเพิ่มขึ้น 179,500 ตร.ม. ซึ่งนับเป็นการเพิ่มอุปทานประจำปีสูงสุดในช่วง 10 ปีผ่านมา

กราฟที่ 2
การเปลี่ยนแปลงของอุปทานสุทธิประจำปีในกรุงเทพฯ
ตารางเมตร

อุปทานในอนาคต

จากไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าจะมีพื้นที่สำนักงานจำนวน 348,600 ตร.ม. เพิ่มเข้ามาในตลาด โดยการเพิ่มขึ้นครั้งนี้จะเพิ่มปริมาณอุปทานรวมขึ้นอีก 6% หากไม่มีการถอดถอนอาคารหรือความล่าช้าในการก่อสร้าง โดยประมาณ 128,400 ตร.ม. หรือคิดเป็น 37% ของอุปทานใหม่ที่คาดการณ์ไว้ในช่วงเวลานี้จะเพิ่มเข้าไปในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD)

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มีอุปทานใหม่เพิ่มเข้ามาประมาณ 154,000 ตร.ม.ต่อปี เปรียบเทียบกัน หากการเปิดตัวอาคารในไตรมาส 2 ปี 2564 ไปจนถึงปี 2569 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อุปทานในกรุงเทพฯจะเติบโตขึ้นรวม 1.59 ล้านตร.ม. หรือเฉลี่ย 277,400 ตร.ม.ต่อปี (ไม่รวมการถอดถอนอาคาร) ในปี 2563 มีพื้นที่สำนักงานประมาณ 985,700 ตร.ม. ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 ซึ่งจะสร้างแรงกดดันเชิงลบทั้งในด้านค่าเช่าและการครอบครองพื้นที่ในระยะสั้น เว้นแต่ว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าความล่าช้าในการก่อสร้างที่เป็นผลกระทบมาจากโควิด-19 และการถอดถอนอาคารเก่าเพิ่มขึ้นอาจหักลบกับผลกระทบของอุปทานล้นตลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ความไม่สมดุลของตลาดไม่อาจแก้ไขได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ

กราฟที่ 3
อุปทานอนาคตของอาคารสำนักงานกรุงเทพฯ
ตารางเมตร

อุปสงค์

การเช่าปรับตัวเพิ่มขึ้นบางส่วนเนื่องจากอัตราการครอบครองพื้นที่ทั้งหมดในไตรมาส 1 ปี 2564 เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส คิดเป็น 50,200 ตร.ม. โดยยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราครอบครองพื้นที่ต่อไตรมาสในช่วง 10 ปี อยู่ที่ 66,700 ตร.ม.

ในปี 2563 ประมาณ 33% ของการเช่าทั้งหมดมาจากอาคารสำนักงานใหม่และอาคารสำนักงานที่ตกแต่งใหม่ เพิ่มขึ้นจาก 21% ในปี 2562 ระดับในปี 2562 สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยในช่วงห้าปี อยู่ที่ 32% แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าผู้เช่าปัจจุบันและผู้เช่าในอนาคตบางรายที่กำลังดำเนินการย้ายตึกหรือขยายพื้นที่สำนักงานอย่างระมัดระวังมากขึ้น ผู้เช่าหลายคนยังคงให้ความสนใจไปที่อาคารสำนักงานใหม่และอาคารสำนักงานที่ตกแต่งใหม่

นอกจากอัตราการเช่าที่มีจำกัดแล้ว พื้นที่ประมาณ 77,400 ตร.ม. ถูกคืนกลับเข้าสู่ตลาด ซึ่งแสดงการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากพื้นที่จำนวน 79,800 ตร.ม. ที่ว่างอยู่ในไตรมาส 4 ของปี 2563 อัตราการดูดซับสุทธิยังปรับขึ้นเป็น -26,600 ตร.ม. จากเดิมที่ -42,700 ตร.ม. ในไตรมาส 4

อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งปี 2563 มีการคืนพื้นที่สู่ตลาดสุทธิอยู่ที่ 121,000 ตร.ม. ซึ่งจัดเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี ในทางกลับกัน อุปทานเติบโตเพิ่มขึ้น 179,500 ตร.ม. ในช่วงเดียวกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานได้เพิ่มระยะห่างขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ส่งผลให้พื้นที่ครอบครองรวมลดลงไป 0.6% ไตรมาสต่อไตรมาส คิดเป็น 4.57 ล้านตร.ม. ผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้หลายบริษัทลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านอาคารสำนักงานลง ในบางบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหลายแห่งจำต้องปิดกิจการลงและออกจากตลาดไป

การเติบโตด้านพื้นที่สำนักงานให้เช่าช่วงยังคงโดดเด่นในไตรมาส 4 ปี 2563 เนื่องจากผู้เช่าต้องการความยืดหยุ่นในการเช่ามากขึ้น รวมไปถึงการปรับลดค่าเช่า และการปรับแต่งพื้นที่ให้เหมาะสมต่อความต้องการ แม้ว่าสำนักงานให้เช่าช่วงนี้เคยเป็นข้อจำกัดในอดีต แต่ในขณะนี้ กลับมีเจ้าของอาคารจำนวนมากเปิดให้เช่าช่วงเมื่อต้องเผชิญกับความเป็นไปได้ที่ผู้เช่าปัจจุบันอาจย้ายออก และโอกาสที่จะมีผู้เช่ารายใหม่มาทดแทนน้อยลง นอกจากนี้เจ้าของอาคารบางรายเริ่มเสนอให้เช่าพื้นที่ที่ตกแต่งพื้นที่แล้วบางส่วนหรือทั้งหมดตามความต้องการของผู้เช่ารายใหม่ ซึ่งเจ้าของอาคารตระหนักดีว่ารายจ่ายตรงนี้เป็นอุปสรรคต่อการโยกย้ายผู้เช่า

กราฟที่ 4
ไดนามิคส์ระหว่างอุปทาน-อุปสงค์ของพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ
ตารางเมตร

อัตราครอบครองในตลาดลดลงไป 0.9% อยู่ที่ 84.3% ในทางเปรียบเทียบ อัตราครอบครองเฉลี่ยจากในช่วง 10 ปียังคงอยู่ที่ 90% ซึ่งสะท้อนตลาดชะลอตัว อาคารทุกเกรดยังคงมีประสิทธิภาพต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว โดยอาคารทุกเกรดทั้งหมดได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราครอบครองอาคารเกรดเอลดลง 5.4% อาคารเกรดบีลดลงไป 6.7% และอาคารเกรดซีลดลงไป 4.2%

อัตราครอบครองพื้นที่ลดลงทั้งในรายไตรมาสและรายปีในทุกตลาด ยกเว้นในเขตสีลม-สาทร-พระราม 4 ที่เพิ่มขึ้น 0.1% ไตรมาสต่อไตรมาส แต่ลดลง 3.5% ปีต่อปี อัตราครอบครองของตลาดลดลงไป 5% ปีต่อปี สำหรับอาคารในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) และ 6.7% ปีต่อปี สำหรับอาคารสำนักงานนอกย่านศูนย์กลางธุรกิจ (non- CBD) ขณะที่เขตเพลินจิต-ชิดลม-วิทยุ เป็นพื้นที่ที่มีอัตราครอบครองสูงสุด อยู่ที่ 89% แม้จะมีอัตราครอบครองลดลงไป 5.6% ในไตรมาส 1 ปี 2563 ก็ตาม

อัตราค่าเช่า

ราคาเช่าโดยเฉลี่ยปรับลดลงทั้งในรายไตรมาสและรายปี โดยลดลง 0.7% ไตรมาสต่อไตรมาส ราคาอยู่ที่ 792 บาท/ตร.ม./เดือน หลังจากมีแรงกดดันเชิงลบอย่างต่อเนื่องอย่างในด้านความต้องการที่ลดลง ผู้เช่าย้ายออกจากพื้นที่ และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากอาคารสำนักงานใหม่ เจ้าของอาคารจำนวนมากขึ้นจึงลดราคาเช่าเพื่อดึงดูดผู้เช่ารายใหม่ และส่วนใหญ่เลือกที่จะตั้งราคาเช่าเท่าเดิมแต่ให้พื้นที่ในการเจรจาต่อรองมากขึ้น ในข้อตกลงการเช่าบางแห่ง อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกนั้นต่ำกว่าราคาเช่าถึง 30% โดยราคาเช่าโดยเฉลี่ย ณ ตอนนี้ลดลงถึง 0.7% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่เคยเป็นบวกที่ 3.8% ในช่วง 10 ปีผ่านมา

กราฟที่ 5
ราคาเช่าเฉลี่ยของอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ โดยแบ่งตามเกรดอาคาร
บาท/ตารางเมตร/เดือน

ตารางที่ 1
ราคาเช่าโดยเฉลี่ยของอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ โดยแบ่งตามเกรด
บาท/ตารางเมตร/เดือน

สำหรับในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ราคาเช่าโดยเฉลี่ยลดลงไป 0.8% ไตรมาสต่อไตรมาส ค่าเช่าลดลงไปตามรายไตรมาสในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ทั้ง 3 แห่ง โดยในแต่ละปี มีเพียงเขตสีลม-สาทร-พระราม 4 เท่านั้นที่มีอัตราการเติบโตเป็นบวก มีราคาเช่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.6% ราคาเช่าเฉลี่ยสำหรับเขตนอกย่านศูนย์กลางธุรกิจ (Non-CBD) ลดลง 0.3% ไตรมาสต่อไตรมาส แต่ยังคงเพิ่มขึ้น 0.1% ปีต่อปี

เขตบางนา-ศรีนครินทร์เป็นพื้นที่เดียวในกรุงเทพฯ ที่มีอัตราค่าเช่าเติบโตเป็นบวกทั้งรายไตรมาสและรายปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาคารสำนักงานใหม่มีฐานราคาอยู่ที่ 700 บาท และเป็นอุปทานที่มีจำกัดภายในเขตพื้นที่มากกว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราราคาเช่าของอาคารที่มีอยู่ก่อน

ตารางที่ 2
ตัวชี้วัดตลาดของอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ

ภาพรวม

ตลาดสำนักงานในกรุงเทพฯ ยังคงเคลื่อนตัวออกจากจุดสูงสุดของวัฏจักร เนื่องจากปริมาณการครอบครองลดลงและราคาเช่าในตลาดส่วนใหญ่ปรับลดลง ส่งผลให้ดุลยภาพของตลาดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นสำหรับฝั่งผู้เช่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ตลาดจะเป็นของผู้เช่าอย่างแน่นอน และคาดว่าจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป เนื่องจากมีแผนจัดทำโครงการอุปทานขนาดค่อนข้างใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า ความต้องการที่ลดลงอย่างกะทันหัน ประกอบกับอุปทานในอนาคตล้นตลาดจะเป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความน่ากังวลในอนาคต ตามที่เราได้คาดการณ์ไว้ เจ้าของอาคารเริ่มประสบกับแรงกดดันเชิงลบและปรับลดอัตราราคาเช่าเพื่อประกันการเช่าพื้นที่จากผู้เช่า แม้แต่ในอาคารหลายแห่งที่มีราคาเสนอเช่าคงที่ เจ้าของอาคารยังต้องแข่งขันกันในด้านค่าเช่าและแรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ความยืดหยุ่นในการเจรจาต่อรองและเงื่อนไขการเช่าที่มากขึ้น รวมถึงระยะเวลายกเว้นค่าเช่าที่นานขึ้น ส่งผลให้รายได้ค่าเช่าสุทธิลดลง หากอุปทานยังคงแซงหน้าอุปสงค์ อัตราการเติบโตของค่าเช่ารายปีในช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะลดลง

ปี 2563 ถือเป็นจุดสังเกตความเคลื่อนไหวของตลาดที่คาดไม่ถึงและที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเป็นผลเนื่องมาจากโควิด-19 การแพร่ระบาดนี้ทำให้เกิด ‘การทดลองพื้นที่ทำงานที่ใหญ่ที่สุดที่ยังคงดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน’ ซึ่งบริษัทหลายแห่งตอบสนองด้วยการนำแนวคิดการทำงานระยะไกลมาใช้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และเพื่อนำไปสู่ระดับความสำเร็จที่แตกต่างกัน เทรนด์นี้ยังคงดำเนินการต่อเนื่องไปในไตรมาส 1 ปี 2564 และเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 ทั้งนี้คาดการณ์ว่า 60-70% ของพนักงานในบริษัทที่เคยต้องการพื้นที่สำนักงานในตอนนี้กำลังทำงานจากบ้าน

จากผลการวิจัยที่ผ่านมา การทำงานทางไกลมีแนวโน้มที่จะดำเนินการต่อไป แต่คงต้องรอดูกันต่อไปว่าการทำงานทางไกลดังกล่าวจะคงอยู่ต่อไปมากน้อยเพียงใด และจะแปลเป็นความต้องการด้านพื้นที่สำนักงานอย่างไร ณ ตอนนี้ดูเหมือนว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่นำร่องนโยบายการทำงานระยะไกลมาประยุกต์ใช้ได้สำเร็จจะยังคงดำเนินการต่อไป แต่น่าจะอยู่ภายในขอบเขตที่จำกัด เป็นไปได้ว่าพื้นที่ทำงานในอนาคตจะถูกกำหนดโดยการผสมผสานระหว่างพื้นที่หลัก + พื้นที่ยืดหยุ่นและการทำงานทางไกล ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่คาดว่าความต้องการพื้นที่สำนักงานจะลดลงมากนักในระยะกลางถึงระยะยาว ธุรกรรมข้อตกลงของการเช่าพื้นที่สำนักงานกว่า 1,000 ตร.ม.ในปีที่ผ่านมานั้นเป็นการดำเนินการโดยบริษัท ที่มีจำนวนพนักงาน 80 -100% ทำงานนอกสถานที่ในช่วงเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้ยังคงมองว่าพื้นที่สำนักงานเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ตามรายงาน (Y)OUR SPACE ฉบับที่สองของไนท์แฟรงค์ ซึ่งรวบรวมข้อค้นพบจากการสำรวจล่าสุดของเราเกี่ยวกับผู้ครอบครองพื้นที่ทั่วโลกเกือบ 400 รายในภายหลังการระบาดของโควิด-19 พบว่า 27% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าโควิด-19 จะส่งผลต่อกลยุทธ์ด้านอาคารสถานที่ของพวกเขาตลอดไป แต่เมื่อกลุ่มตัวอย่างจำกัดเฉพาะบริษัทผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตัวเลขนี้ลดลงเหลือเพียง 12%

ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีความท้าทายปรากฏขึ้นสำหรับฝั่งเจ้าของอาคารในตลาดสำนักงาน นโยบายและแนวทางที่แพร่หลายในตลาดผู้ขายจะไม่มีความเกี่ยวข้องอีกต่อไปหากพิจารณาถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยังพอมีโอกาสที่จะคงรักษาจำนวนผู้เช่าในอาคารสำนักงานที่เปิดกว้างในด้านการปรับปรุงหรือปรับสร้างพื้นที่ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นที่ชัดเจนว่าสำนักงานเป็นมากกว่าเพียงพื้นที่ทางกายภาพที่กำหนดไว้เพื่อการทำงาน เพราะที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ ความยืดหยุ่น การคงรักษาผู้มีความสามารถ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม, ความปลอดภัย, และความเป็นอยู่ที่ดีเช่นกัน โดยมีเพียง 14% ของผู้ตอบแบบสอบถามใน (Y)OURSPACE เชื่อว่าจะต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้เช่าแต่เพียงผู้เดียวในการทำให้สถานที่ทำงานปลอดภัยยิ่งขึ้นในอนาคต ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่เหลืออีก 86% คาดว่าเจ้าของอาคารควรต้องรับผิดชอบในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบการทำความสะอาดอาคารที่เข้มงวดมากขึ้น หรือการนำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้ามาใช้

กราฟที่ 6
วงจรการเช่าสำนักงานในกรุงเทพฯ


Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23