ชิงพัฒนาพื้นที่รถไฟฟ้า “เซ็นทรัล”สนลงทุน “แทรม” ภูเก็ต

716

เซ็นทรัลสนลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รถไฟฟ้าภูเก็ต ชิงเค้กรายได้ 1.1 หมื่นล้าน เตรียมชง รฟม.ขอรัฐหนุนค่าก่อสร้าง 1.8 หมื่นล้าน

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้จัดการโครงการร่วมและที่ปรึกษาด้านการเงิน โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต นั้นจะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) จำนวน 15 ไร่ ซึ่งคาดว่ารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าวตลอดอายุสัมปทานจะอยู่ที่ 11,186 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของรายได้ค่าโดยสาร 74,576 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีเอกชนหลายรายแสดงความสนใจเข้าร่วมทุนพัฒนาพื้นที่ อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล (Central Group) สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าวจะอยู่ในเขตของสถานีและศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) บริเวณใกล้กับห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส อ.ถลาง พื้นที่รวม 46 ไร่ คาดว่าจะพัฒนาเป็นย่านการค้า ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร รวมถึงที่จอดรถ เป็นต้น

นายกีรติ กล่าวว่า จากการศึกษาความเหมาะสมด้านความคุ้มค่าและแนวทางการลงทุนของโครงการดังกล่าว พบว่ารูปแบบการลงทุนที่ดีสุดคือการเปิดร่วมทุน PPP Net Cost รูปแบบที่รัฐบาลรับผิดชอบเรื่องค่าเวนคืนที่ดินและค่าก่อสร้างทั้งหมด 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอกชนลงทุนงานโยธา งานระบบบริหารและจัดหารถ รวมถึงรับความเสี่ยงโครงการคล้ายกับรูปแบบการลงทุนของรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เนื่องจากจะทำให้ตัวเลขผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) เพิ่มเป็น 11% จากปัจจุบันที่มีตัวเลข FIRR เพียง 1.82% ซึ่งเอกชนอาจมองว่ายังไม่คุ้มค่าในการลงทุน ดังนั้นเตรียมเสนอแนวทางดังกล่าวให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และฝ่ายนโยบายพิจารณา

สำหรับค่าโดยสารนั้นได้กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ลอยตัวค่าโดยสารให้สามารถปรับขึ้นราคาได้ตามรอบปีที่กำหนด โดยอิงจากตัวเลขค่าเงินเฟ้อของ จ.ภูเก็ต ที่ 2.5% ไม่ใช้ตัวเลขเงินเฟ้อภาพรวมของประเทศเหมือนกับรถไฟฟ้าเมืองหลวง ดังนั้นเอกชนผู้บริหารสามารถปรับเพิ่มค่าโดยสารได้ หรือต้องฟ้องร้องกับหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อขอค่าชดเชยในกรณีที่ไม่ให้ขึ้นราคา ส่วนด้านฟลีตขบวนรถไฟที่เอกชนผู้ลงทุนควรจะมีนั้น ในช่วง 10 ปีแรกต้องมีจำนวนรถไฟทั้งหมด 17 ขบวน ก่อนเพิ่มเป็น 22-29 ขบวนในปี 2576-2596

Advertisement

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่มีการเสนอเรื่องการปรับแบบให้เป็นทางยกระดับตลอดเส้นทางนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะชาวภูเก็ตไม่ต้องการทำลายภูมิทัศน์เดิมของเมืองเก่า ดังนั้น รฟม.จะเจรจากับกรมทางหลวงในจุดแนวก่อสร้างที่เป็นปัญหา พร้อมเสนอแนวทางการทำอุโมงค์เพิ่มอีกสองจุดในสี่แยกสำคัญ คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนเพิ่ม 500-800 ล้านบาท/แห่ง

ที่มา : Posttoday

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23