จับตาคมนาคมเขย่าบิ๊กโปรเจ็ค ‘อีอีซี’

575

รอรมว.คมนาคมใหม่ขับเคลื่อน2โปรเจ็คใหญ่อีอีซี ไฮสปีด3สนามบิน-แหลมฉบังเฟส3 เอกชนนั่งก้นไม่ติดหวั่นถูกรื้อทีโออาร์แม้แบเบอร์ได้ตัวผู้ชนะ

ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ

นับถอยหลังรอครม.ป้ายแดง บิ๊กตู่เฟส 2 จ่อเข้าบริหารประเทศ คาดว่าไม่น่าจะเกิน1-2 สัปดาห์ นี้ คนไทยจะได้เห็นหน้าตา รัฐมนตรีใหม่แต่ละกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่หลายคนคาดหวังจะเข้ามาช่วยกันระดมสมองขับเคลื่อนจีดีพีให้ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งภาคการลงทุนจากภาครัฐ เอกชน ตลอดจนมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนในระบบ

ขณะที่นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ นาทีนี้คงต้องจับตามองความคืบหน้าของโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะได้ไปต่อแค่ไหน โดยเฉพาะใน 5 โปรเจ็คใหญ่ ได้แก่ 1.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท 2. โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่3 มูลค่า 1.55 แสนล้านบาท 3.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่า 1.05 หมื่นล้านบาท 4.โครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท และ5. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 มูลค่า 5.54 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ 2 ใน 5 โปรเจ็ค คือ โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่3 และไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน รวมมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท มีกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ ซึ่งเป็นโควตารัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย หากโผไม่พลิก น่าจะเป็น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชาย ของนายเนวิน ชิดชอบ

Advertisement

ปัจจุบันทั้ง 2 โปรเจ็คดังกล่าว ยังไม่มีการลงนามสัญญาว่าจ้างผู้ที่ชนะประมูล โดยโครงการไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน แม้จะได้ผู้ชนะประมูลแล้วคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง หรือกลุ่มซีพี แต่ก็ยังต้องรอการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเสนอเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในวันที่ 24 มิ.ย. นี้ ดังนั้น จากเดิมที่กำหนดจะลงนามสัญญาวันที่ 15 มิ.ย. ต้องเลื่อนไปเดือนถัดไป

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 วงเงินลงทุน 8.4 หมื่นล้าน มีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทพ.)เป็นผู้คัดเลือก ขณะนี้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติประมูลคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย PTT Tank Terminal Co.,Ltd. (บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) , Gulf Energy Development Pub Co.,Ltd. (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ) , บริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited ล่าสุดได้เปิดซองข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทน ยังไม่เริ่มกระบวนการเจรจา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าจะปิดดีลนี้ได้อีกทั้งยังมีประเด็นฟ้องร้องจาก กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ประกอบด้วย Associate Infinity Co.,Ltd. (บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด) , Nattalin Co.,Ltd. (บริษัท นทลิน จำกัด) , Prema Marine Pub Co.,Ltd. (บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) ) , PHS Organic Healing.Ltd. ( บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด) , China Railway Construction Corporation Limmited โดยปมปัญหาก็คือ การถูกตัดสิทธิ์หลังผิดคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล ซึ่งพบว่ากลุ่ม NCP ยื่นเอกสารในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯลงนามไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการ

อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการคัดเลือกผู้ชนะประมูล ต้องรอฝ่ายกฎหมายอีอีซีซึ่งเป็นฝ่ายนโยบายว่า เห็นควรตัดสิทธิ์กลุ่มเอกชนตามการตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกหรือไม่ หากยึดตามคำตัดสินคณะกรรมการคัดเลือกก็จะเดินหน้าเจรจาซองที่ 4กับเปิดซองที่ 5 ไปพร้อมกัน หากฝ่ายนโยบายไม่เห็นด้วยก็ต้องเรียกกลุ่มเอ็นซีพีเข้ามาเปิดซองที่ 3 และที่ 4 เพื่อแข่งขันในโครงการต่อไป

สิ่งที่ต้องจับตามองหลังจากนี้คือ เมื่อรัฐบาลใหม่นั่งทำงานแบบเต็มตัว 2 โครงการอีอีซีฝั่งกระทรวงคมนาคม จะมีการรื้อทีโออาร์ หรือมีการเจรจาเพิ่มเติมที่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น นอกเหนือจากที่มีการตกลงไว้ในขั้นแรกหรือไม่ เพราะอย่างน้อยผู้ที่เข้ามานั่งเก้าอี้คมนาคม จำเป็นต้องสอบทานรายละเอียดสาระสำคัญของสัญญากันอีกรอบ พูดง่ายๆก็ดูสัญญาให้เคลียร์กันชัดๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง หรือจะเพื่อทำความเข้าใจผลักดันให้การทำงานมีความต่อเนื่องหรือทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติสูงสุดก็ตาม เพราะนับจากนี้จะเป็นผู้รับไม้ต่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม

นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ที่หลายฝ่ายจะตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะพอเห็นกลุ่มเอกชนที่ชนะการประมูลเพื่อร่วมลงทุนในแต่ละโครงการแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีช่องว่างให้สามารถปรับเงื่อนไข ทีโออาร์ ให้เหมาะสมถูกต้อง ถูกที่ ถูกทางของผู้บริหารนโยบาย เพราะการยังไม่ลงนามในสัญญาใดๆกับเอกชน ทั้ง โครงการไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน ที่ได้ กลุ่มซีพี เป็นผู้ชนะประมูล ซึ่งยังต้องรอEIAไฟเขียวก่อนกำหนดวันลงนามสัญญา และล่าสุดยังเกิดกรณีการเวนคืนที่นับพันไร่ ซึ่งอาจมีปัญหาตามมา จนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะเกิดกรณีค่าโง่ ซ้ำรอยขึ้นมาอีกหรือไม่ ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เลือก กลุ่ม GPC หลังผ่านคุณสมบัติ ยังเหลือการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทน

งานนี้แม้จะเห็นเค้าชื่อกลุ่มเอกชนผู้ที่จะได้งานประมูลกันแล้วก็ตาม เชื่อว่าแต่ละคนมีร้อนมีหนาวกันได้ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการจรดปากกาลงนาม อย่างเป็นทางการ อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่จะเปลี่ยนไปแบบใดคงต้องรอติดตามกัน

ทีี่มา : posttoday.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23