ค่าแรงขั้นต่ำสะเทือนราคาบ้าน เตรียมปรับราคาขึ้น 5%

1431

เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป โดยปรับขึ้นในทุกจังหวัดมาอยู่ในช่วง 308-330 บาท/วัน หรือเฉลี่ย 315.97 บาท/วัน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของสินค้าและบริการ รวมถึงทางด้านอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นจะต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมากด้วย

ค่าจ้างขั้นต่ำ 7 ระดับ 308-330 บาท/วัน
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 มีดังนี้

– 308 บาท/วัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

– 310 บาท/วัน มี 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี

– 315 บาท/วัน มี 21 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์

Advertisement

– 318 บาท/วัน มี 7 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสาคร

– 320 บาท/วัน มี 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี

– 325 บาท/วัน มี 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

– 330 บาท/วัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง

รวมประกาศที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ

ค่าแรงขั้นต่ำทำราคาบ้านขึ้น 5%
นางศิริพร สิงหรัญ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า จากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ จะส่งผลให้ธุรกิจที่ใช้แรงงานมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงธุรกิจรับสร้างบ้านและธุรกิจวัสดุก่อสร้างที่มีทั้งกลุ่มแรงงานทั่วไปและกลุ่มแรงงานมีทักษะ

จากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจรับสร้างบ้านมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งด้านแรงงานและวัสดุก่อสร้าง โดยคาดว่า ประมาณไตรมาส 2 กลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านจะมีพิจารณาปรับขึ้นราคาประมาณ 5% หลังจากไม่ปรับราคาในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก เนื่องจากอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น โดยคาดว่าตลาดรับสร้างบ้านปี 2561 จะเติบโตประมาณ 5% มีมูลค่าประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท

ขึ้นค่าแรงไม่น่าห่วงเท่าขาดคนทำงาน
ด้าน นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า ต้นทุนของค่าแรงมีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น ถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ดินที่มีสัดส่วนสูงถึง 10% ตลาดใหญ่ของอสังหาริมทรัพย์ไทยอยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ที่มีการปรับค่าจ้างเป็น 325 บาท/วัน จึงยังเป็นระดับที่ไม่สูงมากพอที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง และไม่ส่งผลให้ต้องปรับราคาขึ้นแต่อย่างใด แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือการขาดแคลนแรงงานหากมีการลงทุนก่อสร้างโครงการต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก แม้จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการก่อสร้างแทนแรงงาน อาทิ ระบบผนังสำเร็จรูป แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการยอมรับอีกสักระยะ ทั้งนี้แรงงานส่วนใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ 80% เป็นแรงงานต่างด้าว ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายแรงงานต่างด้าวรอบใหม่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องสะดวก ลดขั้นตอน โปร่งใส และไม่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ขึ้นค่าจ้าง ทำสินค้าแพงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ในปี 2561 จะส่งผลกระทบทางตรงต่อต้นทุนของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นให้เพิ่มขึ้นประมาณ 0.4% ของต้นทุนทั้งหมด ส่วนธุรกิจอื่น ๆ ที่แต่เดิมจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากหรือพึ่งพิงแรงงานกึ่งมีฝีมืออาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากจำต้องปรับเพิ่มค่าจ้างของแรงงานกึ่งมีฝีมือเพื่อรักษาระดับความต่างของค่าจ้างท่ามกลางสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมในภาพรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3% ของต้นทุนทั้งหมด

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนถ่ายโอนภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านทางด้านราคาสินค้าและบริการ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จะทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการของผู้บริโภคในปี 2561 เพิ่มขึ้นประมาณ 0.06% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ที่มา : ddproperty

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23