กนอ.ระดมซื้อที่ดินจากภาคเอกชนไม่อั้น พัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม รองรับการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี15 ปีข้างหน้า เตรียมประกาศเชิญชวนผู้สนใจเสนอขายได้ไม่เกินไตรมาสแรกปีนี้ ตั้งเงื่อนไข 500 ไร่ขึ้นไป พร้อมเตรียมชงบอร์ดจัดตั้งนิคมฯร่วมดำเนินการใหม่อีก 3 แห่งรับการลงทุน
จากที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยมีการวางเป้าหมายการพัฒนาใน 15 ปีข้างหน้า จะต้องใช้พื้นที่ประมาณ 1.8 แสนไร่ เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ของภาคเอกชนที่มีอยู่ราว 3 หมื่นไร่ แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว 1.5 หมื่นไร่ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1.5 หมื่นไร่ จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ที่จะมาลงทุน ดังนั้น เพื่อเป็นการจัดหาพื้นที่รองรับการลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับกนอ.ไม่ได้มีพื้นที่นิคมฯของตัวเองมากนัก และ ส่วนใหญ่เป็นนิคมฯร่วมพัฒนากับภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน รวมถึงพื้นที่ราชพัสดุมีจำนวนจำกัด ทางนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ จึงมีแนวคิด ที่จะให้กนอ.พัฒนาเป็นพื้นที่ของตนเองมากขึ้น จากปัจจุบันมีเพียง 11 แห่ง และได้มอบนโยบายกนอ.ไปจัดซื้อที่ดินจากภาคเอกชนที่มีที่ดินอยู่ในมือ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมของตัวเองเพิ่มขึ้นอีกเป็นการรองรับการเติบโตในพื้นที่ดังกล่าว
กนอ.ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายการจัดซื้อที่ดินไว้จำนวนกี่ไร่ แต่ในเบื้องต้นกำหนดไว้จะจัดซื้อในจำนวนที่ไม่จำกัดก่อน เพราะจะต้องประเมินจากภาคเอกชนก่อนว่าจะมีพื้นที่นำมาเสนอจำนวนมากน้อยเพียงใด
ส่วนเม็ดเงินที่จะนำมาจัดซื้อที่ดินนั้น คงจะมาจากรายได้ของกนอ.เอง ที่ในแต่ละปีจะมีรายได้เข้ามาประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อที่ดินนี้ไม่ได้ดำเนินการทำทันทีทั้งหมด แต่อาจจะทยอยดำเนินการไป เพราะจะต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ที่นำมาเสนอด้วย หรืออาจจะไปกู้เงินมาลงทุน ในระยะแรก อีกทั้ง เมื่อพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณามีผลใช้บังคับ ซึ่งสามารถให้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการลงทุนได้ ก็อาจจะใช้บริษัทลูกเข้าดำเนินการในส่วนนี้ก็สามารถทำได้หลายช่องทาง ประกอบกับพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นนิคมนั้น จะต้องมีการศึกษาว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพในการรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะพัฒนาให้แต่ละนิคม เป็นรูปแบบคลัสเตอร์ ที่มีเพียงอุตสาหกรรมเดียว ไม่สะเปะสะปะเหมือนนิคมทั่วไป และแต่ละคลัสเตอร์ควรจะอยู่พื้นที่ไหน ซึ่งในปีนี้จะเริ่มศึกษาศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าว ควบคู่ไปกับการจัดซื้อที่ดิน
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดมีการจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ และการจัดทำทีโออาร์ใกล้จะแล้วเสร็จ เพื่อที่จะประกาศเชิญชวนให้ภาคเอกชนที่มีที่ดินอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา นำมาเสนอขายให้กับกนอ.ในราคาตลาดหรือราคาประเมิน แต่ต้องเป็นราคาที่กนอ.รับได้ โดยคาดว่าจะประกาศเชิญชวนได้เร็วสุดไม่น่าจะเกินไตรมาสแรกของปีนี้
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า สำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซีนั้น นอกจากมีพื้นที่รองรับในระยะแรกแล้ว 3 หมื่นไร่ แบ่งเป็นนิคม ของภาคเอกชนที่พัฒนาแล้ว 1.5 หมื่นไร่ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1.5 หมื่นไร่ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต ดังนั้น การจัดหาพื้นที่มาเพิ่มเติม ทางกนอ.ก็มีแนวคิดไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ การใช้พื้นที่รัฐ การจัดซื้อที่ดินจากภาคเอกชน และการเข้าเทกโอเวอร์นิคมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ว่าแนวทางไหนเหมาะสมกว่า
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 12 – 14 มกราคม 2560