เบื้องลึก “ภูเก็ตโมเดล” สะดุด รัฐ-เอกชนไปคนละทาง

1457

ตลอดเดือนที่ผ่านมา ภาพความขัดแย้งในการเปิดรับ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เข้ามาในประเทศไทย โดยวางภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง ภายใต้ “ภูเก็ตโมเดล” ดูเหมือนจะสร้างความขัดแย้งคุกรุ่นให้ทั้งคนในจังหวัดภูเก็ต ข้าราชการ และคนในรัฐบาล

แต่ตอนนี้ทุกฝ่าย “โยนตราบาป” ความกังวลถึงความไม่พร้อมของคนภูเก็ตเพียงฝ่ายเดียว

ดังที่ “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการลงพื้นที่ภูเก็ตเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2563 ว่า รัฐบาลมีความตั้งใจอย่างมาก พยายามผ่อนปรนทุกมาตรการเพื่อให้เกิดรายได้กลับมาสู่จังหวัดภูเก็ต แต่ยังมีประชาชนในภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงมีความกังวล ตามแผนภูเก็ตโมเดลควรได้รับอนุมัติเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แต่คนในภูเก็ตไม่เอา

“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจให้เกิดการผ่อนคลายมากที่สุด แต่พอจะนำเข้าสู่วาระมีรายงานแจ้งว่าคนภูเก็ตไม่เอา ทำให้ท่านนายกฯเสียใจมาก พวกเราทุกคนมีความตั้งใจ มีความหวังในการช่วยเหลือ เมื่อไม่เอา ต้องหาวิธีการใหม่ ขอให้มีความมั่นใจการสาธารณสุขของไทยในการควบคุมป้องกันโควิด-19 รัฐบาลต้องทำให้ปลอดภัยให้มากที่สุด โดยรัฐบาลต้องการให้เริ่มนำร่องที่ภูเก็ตและสมุย”

เปิดเบื้องลึกคนภูเก็ตถอย 1 ก้าว

เป็นที่ทราบกันว่า รายได้หลักของคนภูเก็ตปีละกว่า 4 แสนล้านบาทมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้นลำพังให้คนไทยมาเที่ยวคงไม่เพียงพอ

Advertisement

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ผมกล้าท้าทุกจังหวัดถ้าจะเปิดรับคนต่างชาติจะมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเสมอ จึงไม่แปลกที่คนภูเก็ตกลุ่มหนึ่งจะเห็นด้วย อีกกลุ่มหนึ่งจะไม่เห็นด้วย แต่เราจำเป็นต้องเปิดให้คนต่างชาติเข้ามา เพราะรายได้ของจังหวัดภูเก็ต 94% มาจากธุรกิจท่องเที่ยว คนทุกหย่อมหญ้าได้รับผลกระทบหมดไม่มากก็น้อย จึงมีความจำเป็นต้องเติมกำลังซื้อจากต่างประเทศ

เพราะกำลังซื้อจากคนประเทศไทยแม้ว่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่สามารถประคับประคองให้ทุกคนรอดจากวิกฤตนี้ได้

“ไม่ใช่อยากเปิดหรือไม่อยากเปิดให้ต่างชาติเข้ามา แต่มันคือ “ความจำเป็น” ต้องเปิดให้ต่างชาติเข้ามา จะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของภาคธุรกิจให้น้อยที่สุด ธุรกิจปิดกิจการ คนงานถูกเลิกจ้างให้น้อยที่สุด รายได้จากคนไทยอาจจะไม่สามารถประคับประคองสภาพเศรษฐกิจของคนภูเก็ตได้

เพราะฉะนั้นจึงต้องไปนำกำลังซื้อจากนอกประเทศเข้ามา ที่มีรูปแบบระมัดระวังที่สุด ภูเก็ตพร้อมจะเปิดอย่างมีเงื่อนไข เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องเห็นใจคนภูเก็ตด้วยว่า ที่ผ่านมาภูเก็ตเราช้ำมาเยอะ เราเคยถูกรังเกียจจากคนในประเทศว่าติดเชื้อมากอันดับ 2 ของประเทศ เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจที่คนภูเก็ตกล้า ๆ กลัว ๆ”นายภูมิกิตติ์กล่าว

แหล่งข่าวในจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า สาเหตุที่คนภูเก็ตต้องถอย 1 ก้าว เพราะสิ่งที่ ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ให้หลักการให้ “ภูเก็ตโมเดล” เป็นพื้นที่นำร่องในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ตรงกับสิ่งที่คนภูเก็ตวางโมเดลไว้ โดยระบุให้นักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตร 14 วัน เมื่ออยู่ครบกำหนดจะมีการตรวจเชื้อโควิด-19 ถ้าไม่พบเชื้อ นักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ไปเที่ยวในจังหวัดอื่นได้

ทั้งนี้ หากประสงค์เดินทางไปเที่ยวจังหวัดอื่น นักท่องเที่ยวต้องกักตัวอยู่ในพื้นที่จำกัดอีก 7 วัน จากนั้นจะมีการตรวจเชื้อซ้ำอีกครั้ง หากไม่พบเชื้อจึงจะไปเที่ยวจังหวัดอื่นได้นั้น

“มาตรการภูเก็ตโมเดลที่ออกมาตรการ 5T กับสิ่งที่รัฐบาลออกมาไม่ตรงกัน รัฐมนตรีก็พูดไม่ตรงกัน ดังนั้น รัฐบาลจะสื่อสารอะไรออกมาต้องละเอียดอ่อน ต้องรอบคอบกว่านี้ สิ่งที่แต่ละคนพูดบางทีก็ไม่ตรงกัน เกิดความสับสน รูปแบบโมเดลต้องชัดเจน เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติครบกำหนดกักตัว 14 วัน ถ้าจะไปจังหวัดอื่นต้องกักตัวอีก 7 วัน ต้องสวอปอีก 1 รอบ ขอถามหน่อยคนไทยที่กลับจากต่างประเทศผ่านการกักตัว 14 วันต้องกักตัวอีก 7 วันก่อนเดินทางข้ามไปจังหวัดอื่นหรือไม่ แล้วทำไมต้องมาทำกับภูเก็ตแบบนั้นด้วย กทม.ทำอย่างหนึ่ง ทำไมให้ภูเก็ตทำอีกอย่างหนึ่ง ทำไมในเมื่อมั่นใจระบบสาธารณสุขแล้วก็ทำแบบเดียวกันสิ

และทำไม กทม.ไม่ล็อกพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ให้เดิน คน กทม.ยอมหรือไม่ แต่จะบอกว่าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในภูเก็ตเดินอิสระในพื้นที่ 1 กิโลเมตรได้

นอกจากนี้ ระบบแอปพลิเคชั่นยังมั่วอยู่เลย มันมีหลายเรื่องรายละเอียดยังไม่ครบ และยังไม่ต้องพูดถึงการให้ บริษัท ไทยแลนด์ ลองสเตย์ เข้ามาบริหารจัดการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียงรายเดียว ทั้งที่โรงแรมระดับ 5-6 ดาว ที่ผ่านมาตรฐานสาธารณสุข 3 แห่งมีฐานลูกค้านักท่องเที่ยวระดับมหาเศรษฐีอยู่ในมืออยู่แล้ว ภูเก็ตต้องการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างจำกัด และควบคุมได้อย่างเข้มงวด”

ที่มา : www.prachachat.net

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23