อัปเดตการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าในกรุง ปี 2565 จะพร้อมเปิดวิ่งกี่สาย อัตราค่าบริการเริ่มต้นเท่าไหร่ ?
รถไฟฟ้า ปี 2565 เป็นอีกปีที่หลายคนเฝ้ารอและติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้าในแต่ละสาย ว่าจะมีเส้นทางไหนที่พร้อมจะเปิดให้บริการในปีนี้บ้าง แต่หลายคนน่าจะพอได้เห็นความคืบหน้ากันไปบ้าง โดยเฉพาะสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ที่รัฐบาลวางแผนที่จะให้ทั้งสองเส้นทางนี้ให้แล้วเสร็จและเปิดวิ่งบริการภายในปีนี้
รถไฟฟ้าสายสีชมพู
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย -มีนบุรี มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 53,490 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐฯ ลงทุนเฉพาะค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,847 ล้านบาท เอกชนลงทุนในส่วนของงานโยธา 21,381 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า 25,262 ล้านบาท โดยกลุ่มบีเอสอาร์ขอรับเงินสนับสนุนโครงการจากภาครัฐฯ 22,500 ล้านบาท และกลุ่มบีเอสอาร์ลงทุนเอง 30,990 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ 31,680 ล้านบาท และเป็นหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) 6,500 ล้านบาท
สำหรับ เส้นทางของโครงการเริ่มต้นที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี และสิ้นสุดที่แยกรามคำแหง-ร่มเกล้า ย่านมีนบุรี ระยะทางรวมประมาณ 34 – 36 กิโลเมตร ดำเนินการโดย บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนโครงการและสัญญาสัมปทานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีทั้งหมด 32 สถานี
โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู คาดว่าจะเปิดให้บริการครั้งแรก ในปี 2565 แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
เฟสที่ 1 : ช่วง “มีนบุรี-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ” ระยะทาง 21 กิโลเมตร วางแผนเปิดบริการเดือนมิถุนายน 2565
เฟสที่ 2 : ขยายเส้นทางไปถึง “กรมชลประทาน” รวมเป็นระยะทาง 29 กิโลเมตร กำหนดเปิดบริการเดือนสิงหาคม 2565
เฟสที่ 3 : เปิดบริการเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางจนถึง “ศูนย์ราชการนนทบุรี-สี่แยกแคราย” เดือนกรกฎาคม 2566
อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู
รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 14 บาท และสูงสุดไม่เกิน 42 บาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1.22 บาท
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีมูลค่าโครงการรวม 51,810 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐฯ ลงทุนเฉพาะค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,013 ล้านบาท เอกชนลงทุนในส่วนของงานโยธา 23,206 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า 22,591 ล้านบาท โดยกลุ่มบีเอสอาร์ขอรับเงินสนับสนุนโครงการจากภาครัฐฯ 25,050 ล้านบาท และกลุ่มบีเอสอาร์ลงทุนเอง 26,760 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ 31,680 ล้านบาท และเป็นหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) 6,500 ล้านบาท
มีแนวเส้นทางส่วนใหญ่อยู่ทางด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานคร และสิ้นสุดเส้นทางในจังหวัดสมุทรปราการ มีจุดเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีลาดพร้าว และสิ้นสุดเส้นทางบริเวณแยกเทพารักษ์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีสำโรง ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ระยะทางรวมประมาณ 30 กิโลเมตรดำเนินการโดย บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนโครงการและสัญญาสัมปทานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีทั้งสิ้น 23 สถานี
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คาดว่าจะเปิดให้บริการครั้งแรก ในช่วงกลางปี 2565 (ยังไม่มีการระบุวัน และเดือนที่ชัดเจน)
อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 14 บาท และสูงสุดไม่เกิน 42 บาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1.38 บาท
รถไฟฟ้าสายสีส้ม
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม มีมูลค่ารวม 143,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐฯ ลงทุนเฉพาะค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน 15,000 ล้านบาท เอกชนลงทุนในส่วนของงานโยธาทั้งระบบ 96,000 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า 32,000 ล้านบาท โดยรัฐฯ จะชำระค่างานโยธาทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยคืนให้ในระยะเวลา 10 ปีหลังเปิดดำเนินการ
การก่อสร้างได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือเส้นทางตะวันตกช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเส้นทางตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – บางกะปิ – มีนบุรี – แยกร่มเกล้า
โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจาก จากจุดตัดทางรถไฟสายธนบุรี (สายใต้เดิม) กับถนนจรัญสนิทวงศ์ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ และ จากจุดตัดทางรถไฟสายธนบุรี (สายใต้เดิม) กับถนนจรัญสนิทวงศ์ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ มีทั้งหมด 29 สถานี คาดว่าจะเปิดให้บริการครั้งแรก ในปี 2570 (ยังไม่มีการระบุวัน และเดือนที่ชัดเจน)
อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม
รถไฟฟ้าสายสีส้มมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท และสูงสุดไม่เกิน 45 บาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1.25 บาท
รถไฟฟ้าสายสีม่วง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือ สายสีม่วงใต้ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) อีกทั้งยังมีสถานีที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้ใช้บริการ ได้แก่ สถานีสามยอด เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสถานีผ่านฟ้า ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับความคืบหน้านั้น ล่าสุด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธา กับ ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา ทั้ง 6 สัญญา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ,บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
กรอบระยะเวลาดำเนินงานสำหรับการก่อสร้างงานโยธาทั้ง 6 สัญญา รวมทั้งสิ้น 2,005 วัน นับจากวันที่ รฟม. ได้มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ให้กับผู้รับจ้าง ทั้งนี้ ตามแผนงานจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2565 และคาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2570
อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้
อัตราค่าโดยสารสายสีม่วงใต้ เริ่มต้นที่ 14 บาท และสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ( ยังไม่ได้สรุป)
รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569
อ้างอิงข้อมูล : รฟม.
ภาพประกอบ : AFP ,TNN Online
ที่มา : www.tnnthailand.com