ในที่สุดร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก พ.ศ. …. หรือกฎหมายอีอีซี ก็ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และ 3 ด้วยมติ 170 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย
ถือเป็นการเริ่มต้นโครงการ EEC อย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความคาดหวังของนักธุรกิจไทย-ต่างชาติ ที่เฝ้าจับตามอง เพราะแม้ตัวกฎหมาย EEC ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของ สนช. ก็มีนักลงทุนทยอยเข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทในพื้นที่ EEC แล้วกว่า 6 พันบริษัท เมื่อกฎหมาย EEC ผ่านฉลุย จะยิ่งทำให้โครงการ EEC เดินหน้าได้เต็มสูบ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รองนายกฯ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” นำทีมเศรษฐกิจไทย ไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นพอดิบพอดี จึงเป็นโอกาสที่จะใช้กฎหมาย EEC ชักชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นให้มาลงทุนในไทย
อย่างไร ก็ตาม ก่อนจะโหวตผ่านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน ประชุมยาวนานถึง 17 ครั้ง ตั้งแต่ 28 ก.ย. 2560 ถึง 7 ก.พ. 2561 พิจารณาทั้งหมด 71 มาตรา แก้ไข 49 มาตรา ตัดออก 2 มาตรา และเพิ่มขึ้นใหม่ 5 มาตรา
ดันแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสันเป็นพื้นที่ EEC
สาระ สำคัญของร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. อาทิ มาตรา 6 กำหนดให้พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อวัตถุประสงค์ อาทิ 1.พัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2.จัดให้มีการบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ 3.พัฒนาเมืองให้ทันสมัยระดับนานาชาติ สะดวก ปลอดภัย ฯลฯ
ทั้งนี้ กมธ.ได้เพิ่มวรรคท้ายมาตรา 6 ว่า กรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์ จะตราพระราชกฤษฎีกาให้พื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือ เกี่ยวข้อง เฉพาะเท่าที่จำเป็น
บอร์ด EEC คุมเบ็ดเสร็จ
มาตรา 10 เกี่ยวกับบอร์ด EEC กำหนดให้ “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” มีนายกฯเป็นประธาน รองนายกฯ เป็นรองประธาน นอกนั้นมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ กับ ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน เป็นต้น
มาตรา 11 บอร์ด EEC มีอำนาจ อาทิ กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนา EEC, ให้ความเห็นชอบแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน, โครงสร้างพื้นฐาน, กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน, อนุมัติ อนุญาตให้สิทธิ หรือให้สัมปทาน, กำหนดพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมเป้าหมายและสิทธิประโยชน์
มาตรา 14 ให้มีสำนักงาน EEC มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และเป็นหน่วยเลขานุการของบอร์ด โดยมีเลขาธิการ 1 คน รับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อบอร์ด EEC
มาตรา 34 กรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อ ประโยชน์ในการพัฒนา EEC ให้สำนักงานจัดซื้อ เช่า เช่าซื้อ เวนคืน เป็นต้น โดยทาง กมธ.ได้ถอนเรื่องการ “ถมทะเล” ออกไป เพราะยังไม่จำเป็น
10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
มาตรา 39 อยู่ในหมวด 5 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแปรรูปอาหาร 6.หุ่นยนต์ 7.การบินและโลจิสติกส์ 8.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.ดิจิทัล และ 10 การแพทย์และสุขภาพครบวงจร
เกณฑ์นักลงทุนถือครองที่ดิน-อาคารชุดมาตรา 49 ให้ผู้ประกอบการในกิจการส่งเสริม ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิ ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษประกอบกิจการที่ได้รับ อนุญาตได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินให้ผู้ประกอบ กิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดโดยได้รับการยกเว้นจากการจำกัดสิทธิของคน ต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดผู้ประกอบกิจการซึ่งจะมีสิทธิและจำนวนที่ดินหรือห้องชุดตามวรรคหนึ่ง และวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่บอร์ด EEC กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายวิษณุกล่าวว่า “ต้องดูว่าคนที่เข้ามาประกอบกิจการเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ถ้าเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เข้าเป็นองค์ประกอบผู้ประกอบการ เป็นบริษัท ห้างร้าน และเป็นคนต่างด้าว ก็สามารถถือที่กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ คนเหล่านี้สามารถถือสิทธิที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษโดยไม่ต้องได้รับ อนุญาตตามกฎหมายที่ดิน”
“ส่วนคอนโดฯ หรือห้องชุด ผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นนิติบุคคล และเป็นคนต่างด้าวก็ถือกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายอาคารชุดได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อจำกัดตามกฎหมายอาคารชุด อาจจะซื้อห้องชุดทั้ง 100% ก็ได้ แต่ผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิจำนวนที่ดินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บอร์ด EEC กำหนด และได้รับการเห็นชอบจาก ครม.โดยต้องไม่เกินไปกว่าหลักเกณฑ์กฎหมายบีโอไอ และกฎหมายว่าด้วยการนิคมฯ”
รัฐจัดโรดโชว์ดูดลงทุน
นาย อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากนี้จะนำร่างกฎหมายพิจารณาในที่ประชุม ครม.ภายใน 7 วัน ใช้เวลา 60 วันตั้งคณะกรรมการนโยบาย และภายใน 90 วันสรรหา ตั้งเลขาฯอีอีซี ระหว่างนั้นจะเริ่มจัดทำแผนแม่บท เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม โดยตั้งกองทุนขึ้น 1,000 ล้านบาท เพื่อดูแลเยียวยาพัฒนาชุมชนโดยรอบ แผนการศึกษา แผนการท่องเที่ยว ภายในเดือน ก.พ. 2561 จะเริ่มโรดโชว์ประเทศเป้าหมายดึงอุตสาหกรรม S-curve เข้ามาทันที อาทิ ยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา จีน ตั้งเป้ายอดขอรับการลงทุน (บีโอไอ) ในอีอีซีปีนี้ 300,000 ล้านบาท
ขณะที่ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวว่า ได้เร่ง 5 โครงการภายในปีนี้ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ใช้ PPP นักลงทุนต่างชาติลงทุน ได้สัดส่วนเต็ม หรือเกิน 49%
“จากนี้จะมีนัก ลงทุนทั้งจากญี่ปุ่นและจีนยื่นขอรับการส่งเสริมแน่นอน ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีอาจสูงกว่า 300,000 ล้านบาท จากยอดขอรับของบีโอไอทั้งปีที่ตั้งไว้ 720,000 ล้านบาท และคาดว่าจะลงทุนจริงปีนี้ 30-40% จากคำขอรับส่งเสริมการลงทุนปีก่อนที่ 200,000 ล้านบาท”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ