รุมต้าน ผังเมืองภูเก็ต บีบคอนโด สร้างที่จอดรถ 100%
บิ๊กอสังหาฯ-5สมาคม อาทิ ท่องเที่ยว-โรงแรม หอการค้า อุตสาหกรรม รุมสับผังเมืองใหม่ภูเก็ต บีบสร้างที่จอดรถจำกัดความสูง พื้นที่รอบป่าตอง ถูกปรับลดจากพื้นที่สีเหลือง เป็นเกษตรกรรมสกัดการพัฒนา ขณะราคาที่ดินแพงโด่ง ไร่ละ 200-300 ล้าน
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนเกาะภูเก็ตขยายตัวอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ แม้จะสร้างรายได้เข้าพื้นที่ แต่อีกด้านกลับสร้างผลกระทบ จากการรุกรานทรัพยากรทางธรรมชาติ ปัญหาการจราจรคับคั่ง ไร้ระเบียบ
อีกทั้งปัญหาขยะ นํ้าเสีย สร้างผลกระทบตามมา จึงตั้งกฎระเบียบข้อบังคับมากมาย ทั้งประกาศจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายควบคุมอาคาร ผังเมือง
ล่าสุด กรมโยธาธิการและผังเมือง ปรับปรุง ผังเมืองภูเก็ต ออกมา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งแหล่งข่าวจาก หอการค้าจังหวัดภูเก็ตระบุว่า ผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต ฉบับใหม่ มีข้อดีคือการยกระดับ ภูเก็ตให้เป็นสมาร์ทซิตี มีความเป็นระเบียบ สร้างตึกสูงได้ในทำเลเศรษฐกิจใจกลางเมือง เทียบชั้นประเทศสิงคโปร์ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวนักลงทุนเข้าพื้นที่
โดยเฉพาะการนำสัดส่วนพื้นที่ก่อสร้างอาคารต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio: FAR) และพื้นที่ว่าง เหมือนผังเมืองรวมกรุงเทพ มหานครมาใช้ ไม่ให้เกิดความหนาแน่น ป้องกันการขยายตัวของเมืองไปในทิศทางที่บิดเบี้ยว ไร้การควบคุม เบื้องต้นการสร้างที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ต้องจัดทำพื้นที่จอดรถ 100%
จากที่ผ่านมา กำหนดให้ จัดพื้นที่จอดรถเพียง 30% จึงมีพื้นที่อีกมากที่จะซอยเป็นห้องขายเชิงพาณิชย์ ประเด็นนี้จึงมีบริษัทอสังหาฯรายใหญ่จากส่วนกลางรวมตัวกันคัดค้าน โดยอ้างว่าราคาที่ดินแพง จากราคาคอนโดมิเนียมที่ขายปัจจุบัน 1.3 ล้านบาทต่อหน่วยอนาคตราคาอาจขยับเป็น 2 ล้านบาทต่อหน่วย เนื่องจากต้องนำพื้นที่ขายไปสร้างที่จอดรถ
“ยกตัวอย่าง คอนโดมิเนียม 400 ห้อง ต่อไปต้องจัดที่จอดรถ 400 คัน ทำให้พื้นที่ขายหายไปกลายเป็นที่จอดรถ ต่างจากผัง เมือง เดิม ที่กำหนดให้มีที่จอดรถเพียง 30% 400 ห้องมีที่จอดรถ เพียง 120 คัน จึงเกิดปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ ทำให้ทุกวันนี้ไหล่ทางตามท้องถอนกลายเป็นที่จอดรถ”
ขณะเดียวกัน ประกาศสิ่งแวดล้อมใหม่ กำหนดให้ทั้งเกาะสร้างสูงได้เพียง 23 เมตร หรือไม่เกิน7-8 ชั้น แต่ต่อไป ภูเก็ต สามารถสร้างสูงได้ โดยเฉพาะย่านหนาแน่น ตามขนาดพื้นที่ และสัดส่วนFAR (สัดส่วนพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดิน) ทำให้ สามารถสร้างตึกได้สูง เฉลี่ย 45 เมตร กว่า 10 ชั้นมองเห็นวิวทะเล โดยเฉพาะโซนชุมชนหนาแน่น อย่างป่าตอง และตลอดแนวถนนเทพกระษัตรี ฯลฯ
ขณะบางทำเลที่ ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย และต้องการขอปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ นั้นคือพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) ซึ่งสามารถพัฒนา อาคารพาณิชย์ได้แต่กลับถูกปรับลดการใช้ที่ดินลงเป็นพื้นที่สีเขียวเกษตรกรรม (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม)ทำให้คนที่ซื้อที่ดินมาในราคาแพงกลับไม่สามารถพัฒนาได้ แต่หากจะเร่งขออนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายในปัจจุบัน เกรงว่าจะเกิดปัญหาล้นตลาด เพราะความรีบร้อน อาทิ พื้นที่รอบป่าตอง ทั้งที่ราคาที่ดินตกไร่ละ 200-300 ล้านบาท
ขณะ 5 สมาคม เอกชน ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, สมาคมโรงแรม, สมาคมอุตสาหกรรม, สมาคมท่องเที่ยว และหอ การค้าจังหวัด รวมตัวคัดค้าน ผังเมืองภูเก็ต ที่กำหนดโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยระบุว่า จะสร้างผลกระทบต่อการลงทุน เนื่องจาก ที่ดินซึ่งเป็นต้นทุนหลัก มีราคาแพง โดยเฉพาะป่าตอง และเขตใจกลางเมืองภูเก็ต
นายบุญ ยงสกุล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต ยํ้าว่า ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จาก ผังเมืองฉบับใหม่บังคับใช้เนื่องจากหลายพื้นที่ถูกปรับลดจากพื้นที่สีเหลืองเป็นพื้นที่สีเขียว เกษตรกรรมรอบเมือง ป่าตอง ทั้งที่เป็นย่านอยู่อาศัยมีนักท่องเที่ยวให้ความนิยม
แหล่งข่าวจาก เทศบาลเมืองภูเก็ตยอมรับว่า เอกชนไม่พอใจผังเมืองฉบับปรับปรุงใหม่ เนื่องจากย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองภูเก็ต บริเวณวงเวียนม้านํ้า ถูกจำกัดความสูงลงครึ่งหนึ่งจากเดิมประกาศสวล.กำหนดให้สร้างได้ 60 เมตร แต่ผังเมืองใหม่ ซึ่งมีอำนาจมากกว่า ให้สร้างได้ไม่เกิน30 เมตร และกำหนดสัดส่วนพื้นที่ว่างมากขึ้น
ที่มา : thansettakji.com