รัฐปรับลดเพดาน ภาษีที่ดิน 40% พร้อมมาตรการผ่อนปรน

995

จากที่ทางภาครัฐต้องการผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดการเสวนา และการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… มาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปี 2562 ซึ่งจะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราใหม่ ทำให้ผู้ที่ครองที่ดินผืนงามในกรุงเทพฯ ที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบปล่อยที่ดินออกมาขายมากขึ้น

ภาษีที่ดินฯ เร่งเจ้าของที่ดินขาย
ผลจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะประกาศใช้ในปี 2562 ทำให้เจ้าของที่ดินที่กังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนำที่ดินมาขายมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินในทำเลทองของกรุงเทพฯ โดยข้อมูลจากนายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ผลจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำให้เกิดการซื้อขายและเปลี่ยนมือเจ้าของที่ดินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ดินแปลงขนาดใหญ่ของตระกูลดังที่ตั้งอยู่กลางเมือง อาทิ

เอชเคอาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากฮ่องกงที่ซื้อที่ดินจากตระกูลพานิชภักดี เตรียมเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยระดับหรูบนที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 24 ไร่ บน ถ.พระราม 3 ด้วยงบลงทุนประมาณ 2,800 ล้านบาท และที่ดินอีกแปลงที่ร่วมทุนกับกลุ่มซิตี้เรียลตี้ พัฒนาบน ถ.วิทยุ ใกล้แยกสารสินตรงข้ามสวนลุมพินี เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ รวมทั้ง บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ยังได้ที่ดินของตระกูลพิชัยรณรงค์สงคราม เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ บริเวณ ถ.หลังสวน โดยสร้างสถิติราคาขายต่อตารางวาสูงสุดถึง 3.2 ล้านบาท

ปรับลดเพดานภาษีลง 40%
กมธ. ได้เสนอปรับลดเพดานภาษีลงประมาณ 40% โดยกรณีที่ดินเกษตรกรรม ลดเพดานเหลือ 0.15% ของฐานภาษี จากร่างกฎหมายเดิมที่คณะรัฐมนตรี กำหนดไว้ที่ 0.2% ส่วนที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัยลดเพดานเหลือ 0.3% จากเดิมกำหนดที่ 0.5% ขณะที่ที่ดินอื่น ๆ นอกจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย (รวมที่ดินรกร้างว่างเปล่า) ลดเพดานเหลือ 1.2% จากเดิมกำหนดที่ 2% แต่กรณีที่รกร้างว่างเปล่าจะมีการปรับเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 3% ซึ่งต่ำกว่าเดิมที่กำหนดให้เพิ่มขึ้น 0.5% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 5%

อย่างไรก็ตาม กมธ. ได้เสนอกำหนดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในช่วง 2 ปีแรกในอัตราผ่อนปรน ไว้ในบัญชีแนบท้ายของกฎหมาย ส่วนปีที่ 3 เป็นต้นไป รัฐบาลขณะนั้นจะเป็นผู้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บจริงต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้ จะเสนอต่อที่ประชุม สนช. ภายในวันที่ 24 มกราคม 2561 คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาอีกประมาณ 60 วัน หากผ่าน สนช. จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป โดยจากการประเมินคาดว่าภาครัฐจะมีรายได้จากการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปีแรกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ที่มา : ddproperty

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23