ชาวหาดใหญ่-ภูเก็ต-เชียงใหม่ จะได้นั่งรถไฟฟ้ากันแล้ว

1010

กรุงเทพฯ กำลังถูกขุดจนพรุนเพื่อเนรมิตรถไฟฟ้าหลากสี 10 สาย รวมระยะทางกว่า 400 กม. ที่จะทยอยเปิดให้บริการในปี 65-68 นั่งกันได้ยาวๆ กว่าเดิมที่มีแค่ 4 สายในปัจจุบัน คือรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-เตาปูน) สายสีม่วง (บางใหญ่-คลองบางไผ่) และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ระยะทางรวมกันแค่ 100 กม. กว่าๆ

วันนี้จะพาไปอัพเดทความฝันของคนต่างจังหวัดกันบ้างว่า จะได้เอื้อมถึงรถไฟฟ้าเหมือนคนเมืองหลวงหรือไม่?? นับเป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษารายละเอียดรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดเสร็จไปหลายจังหวัดแล้วมาสแกนกัน

เริ่มจากใต้สุด โครงการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรือ “โมโนเร หาดใหญ่” ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว ขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลายืดอกเสนอตัวเป็นผู้ดำเนินโครงการเองแล้ว

ชื่อสายทางจากแยกบ้านคลองหวะ-คิวรถตู้ตลาดเกษตรหาดใหญ่ใน ระยะทาง 12.54 กม. รวม 12 สถานี มูลค่าการลงทุน 16,100 ล้านบาท แนวเส้นทางเริ่มจากสถานีสี่แยกคลองหวะ ถนนกาญจนวณิช ผ่านสถานีขนส่ง สถานีคลองเรียน สถานี ม.อ. สถานีคอหงส์ แล้วเข้าถนนเพชรเกษมที่แยกคอหงส์ ผ่านสถานีบิ๊กซีหัวรั้ว สถานีหน้าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย สถานีวงเวียนน้ำพุ สถานีตลาดกิมหยง สถานีชุมทางรถไฟหาดใหญ่ สถานีหาดใหญ่ใน และสิ้นสุดโครงการที่สถานีรถตู้ตลาดเกษตรหาดใหญ่ใน

Advertisement

อบจ.สงขลาจะศึกษารูปแบบการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (แบบพีพีพี) เพื่อให้เอกชนมีส่วนร่วมลงขันด้วย ใช้เวลาศึกษาประมาณ 6-7 เดือนให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ จากนั้นจะนำเสนอผลการศึกษาเสนอ กระทรวงมหาดไทย (มท.) พิจารณา ก่อนนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป วางเป้าหมายให้เริ่มก่อสร้างได้ในปี 62 ใช้เวลาประมาณ 3 ปี เพื่อเปิดบริการปี 65

ตามด้วย จ.ภูเก็ต ผลการศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาหรือรถรางภูเก็ตสายท่านุ่น-สนามบิน-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 60 กม. มี 23 สถานี แบ่งเป็น 2 ระยะ (เฟส) คือ เฟสแรกช่วงท่านุ่น-สนามบินภูเก็ต14 กม. เฟส 2 ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 46 กม. จะก่อสร้างเฟส 2 ก่อน งบลงทุน 28,000 ล้านบาท เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องพื้นที่ มีปริมาณการจราจรสูงและแก้ปัญหารถติด อนาคตจะเชื่อมกับรถไฟสายใหม่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น (พังงา) ด้วย

แนวเส้นทางจากสถานีรถไฟท่านุ่น ใช้เกาะกลางถนนทางหลวง 402 (ถนนเทพกระษัตรี) สร้างรางรถไฟฟ้าระดับดิน เชื่อมสถานีรถไฟผ่านสถานที่ราชการสำคัญ จากนั้นเบี่ยงเข้าถนน 4026 (ถนนท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต) รับผู้โดยสารแล้วเข้าถนน 4031 (ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก) สิ้นสุดที่สถานีห้าแยกฉลอง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. จะศึกษารูปแบบการลงทุนและหาแหล่งเงินทุนต่อไปวางเป้าหมายเริ่มก่อสร้างในปี 62

ขึ้นเหนือไปที่ จ.เชียงใหม่ ผลการศึกษารถไฟฟ้ารางเบา จ.เชียงใหม่ เห็นชอบเสนอให้ใช้โครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะทั้ง2 โครงข่าย เพื่อเสนอ กระทรวงคมนาคม พิจารณาตัดสิน ประกอบด้วย โครงข่ายทางเลือกรูปแบบเอใช้ทางวิ่งบนดินและใต้ดินร่วมกัน มี 3 เส้นทางหลัก ระยะทางรวม 35 กม. ได้แก่ 1.สายสีแดง 12 กม. 2.สายสีเขียว 12 กม. และ 3.สายสีน้ำเงิน 11 กม. วงเงินลงทุน 106,895 ล้านบาท ใช้เวลาสร้าง 6 ปี วางเป้าหมายเริ่มสร้างปลายปี 62 ถึงต้นปี 63 แล้วเสร็จปี 67-68

ส่วนโครงข่ายบีใช้ทางวิ่งบนดินทั้งหมด 3 เส้นทางหลัก ระยะทางรวม 40.57 กม. ได้แก่ 1.สายสีแดง 15.65 กม. 2.สายสีเขียว 11.11 กม. และ 3.สายสีน้ำเงิน 13.81 กม. วงเงินลงทุน 28,419 ล้านบาท ใช้เวลาสร้าง 3 ปี คาดว่าเริ่มสร้างได้ปลายปี 62 ถึงต้นปี 63 แล้วเสร็จปี 64-65

ส่วนรูปแบบการลงทุน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.รัฐลงทุน 100% 2.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (พีพีพี) รัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนลงทุนด้านระบบและการเดินรถ และ 3.ระดมทุน รฟม. ต้องศึกษารายละเอียดออกแบบโครงข่ายแนวเส้นทางที่เลือกรวมทั้ง รูปแบบสถานีและรูปแบบการลงทุน

สำหรับแนวเส้นทางเบื้องต้นทั้ง 3 สายได้แก่ 1. สายสีแดง (ศูนย์ราชการฯ-สนามบิน-แม่เหียะ) จากแยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซีหางดง) – สนามบินเชียงใหม่ – เซ็นทรัลแอร์พอร์ต – ม.เชียงใหม่ (สวนดอก) – รพ.มหาราชฯ – วัฒโนทัยพายัพ – สถานีขนส่งช้างเผือก – ม.ราชภัฎเชียงใหม่ – สนามกีฬาสมโภช 700 ปี – ศูนย์ประชุมฯนานาชาติ – รพ.นครพิงค์

2. สายสีน้ำเงิน (สวนสัตว์เชียงใหม่-ท่าแพ-ดอนจั่น) จากสวนสัตว์เชียงใหม่ – ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา – ม.เชียงใหม่ นิมมานเหมินทร์ – วัดพระสิงห์ฯ – อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ยุพราชวิทยาลัย – ประตูท่าแพ – ไนท์บาซ่าร์ – ตลาดอนุสาร – ตลาดสันป่าข่อย – สถานีรถไฟเชียงใหม่ – บิ๊กซีดอนจั่น – พรอมเมนาดา และ 3.สายสีเขียว (แม่โจ้-กาดหลวง-สนามบิน) จากสนามบินเชียงใหม่ – ม.ฟาร์อีสเทิร์น – เซ็นทรัลแอร์พอร์ต – ตลาดหนองหอย – มงฟอร์ตวิทยาลัย – เรยีนาร์เซรีวิทยาลัย – ตลาดอนุสาร – ไนท์บาซาร์ – กาดหลวง – ปริ้นซ์รอแยลวิทยาลัย – ดาราวิทยาลัย – รพ.แมคคอร์มิค – สถานีขนส่งอาเขต – เซ็นทรัลเฟสติวัล – แยกแม่โจ้ – สี่แยกรวมโชค

ที่มา : เดลินิวส์

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23