ครม.สัญจรภูเก็ต บูมเมกะโปรเจ็กต์ 2.9 แสนล้าน ปลุกเศรษฐกิจอันดามัน

968

จัดทัพรับ ครม.สัญจรภูเก็ต “คมนาคม” บูมเมกะโปรเจ็กต์ ปลุกเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวอันดามัน

ระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย. 2563 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลประยุทธ์ จะยกคณะบินลัดฟ้าไปประชุมนอกสถานที่ จ.ภูเก็ต และติดตามความคืบหน้าแผนงานในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด ระนอง พังงา กระบี่ สตูล ภูเก็ต ตรัง

หวังกระตุ้นการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจทะเลภาคใต้ หลังซมพิษโควิด-19 มานานหลายเดือน โดยมีการเตรียมการจะให้ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังภูเก็ตด้วยเรือยอชต์

ศักดิ์สยามสั่งเช็กลิสต์โครงการ

ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ล่าสุด “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวง ได้ประชุมหัวหน้าหน่วยให้เตรียมการรองรับ จะยกคณะลงพื้นที่ตรวจราชการเป็นการล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.นี้

พร้อมกำชับ “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” ตรวจความพร้อมด้านกายภาพและห้องตรวจโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับคัดกรองผู้โดยสารซึ่งไม่ใช่เฉพาะสนามบินภูเก็ต ยังรวมถึงเชียงราย เชียงใหม่และหาดใหญ่ จ.สงขลา ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีโครงการลงทุนในพื้นที่ 6 จังหวัด เตรียมความพร้อมโครงการที่มีเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบ

Advertisement

คมนาคมลงทุนครบทุกโหมด

เมื่อพลิกดูโครงการจะมี 4 โครงการขนาดใหญ่ที่น่าสนใจครบถ้วน “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” มีวงเงินลงทุนรวม 297,904 ล้านบาท ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าภูมิภาคที่ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” จัดลำดับความสำคัญไว้เป็นเบอร์หนึ่งที่พร้อมจะสร้างที่สุด

ออกแบบเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (tram) จะประเดิมก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. มี 21 สถานี เป็นสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี ยกระดับ 1 สถานี และใต้ดิน 1 สถานี วงเงิน 35,294 ล้านบาท เก็บค่าโดยสาร 35-140 บาทต่อเที่ยว

ลุย PPP รถไฟฟ้า-ทางด่วน

ล่าสุดได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.แล้วให้ลงทุนรูปแบบ PPP net cost 30 ปี รัฐลงทุนงานโยธาและเวนคืน ส่วนเอกชนลงทุนงานระบบและจัดการเดินรถตลอดอายุสัมปทาน คาดว่าจะเสนอ ครม.อนุมัติโครงการกลางปี 2564 ประมูลการก่อสร้างในปี 2565 เปิดบริการในปี 2569

ถัดมาโครงการ “ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง” จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. มี “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” เป็นผู้ดำเนินโครงการ ล่าสุด “สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข” ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 24-25 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสำรวจแนวเส้นทางอีกครั้ง เนื่องจากตัวโครงการผ่านการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว แต่ยังติดปัญหาการขอใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ช่วงอุโมงค์ฝั่ง ต.ป่าตอง ที่จะลอดใต้เทือกเขานาคเกิด และออกจากอุโมงค์ในฝั่ง ต.กะทู้

“ประเด็นที่กรมป่าไม้กังวล บริเวณอุโมงค์มีตัดผ่านพื้นที่ป่า ติดข้อกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 จึงจะลงพื้นที่พร้อมกับกรมป่าไม้ ดูพื้นที่ที่มีปัญหาร่วมกัน คาดว่ากรมป่าไม้น่าจะอนุญาตให้เข้าพื้นที่เพราะรายงาน EIA ผ่านแล้ว”

นายสุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า หากกรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ จะเสนอโครงการให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) พิจารณา เนื่องจากโครงการนี้จะลงทุนรูปแบบ PPP net cost รัฐจ่ายค่าเวนคืน ส่วนเอกชนลงทุนก่อสร้าง และรับสัมปทานเก็บค่าผ่านทาง 35 ปี เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป คาดว่าจะเสนอ ครม.อนุมัติโครงการในเดือน ก.พ. และประมูลเดือน มิ.ย. 2564

สำหรับทางด่วนกะทู้-ป่าตอง ใช้เงินลงทุน 13,916.97 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืน 5,685.91 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 8,231 ล้านบาท มีผู้ถูกเวนคืนเป็นที่ดินจำนวน 193 แปลง หรือกว่า 100 ไร่ วงเงิน 4,693.24 ล้านบาท และสิ่งปลูกสร้าง 222 หลังคาเรือน วงเงิน 992.64 ล้านบาท เก็บค่าผ่านทางรถจักรยานยนต์ 15 บาท รถ 4 ล้อ 45 บาท รถ 6-10 ล้อ 85 บาท และมากกว่า 10 ล้อ 130 บาท

เร่งขยายสนามบินภูเก็ต

ยังมี “โครงการพัฒนาสนามบินภูเก็ต เฟส 2” วงเงิน 6,200 ล้านบาท ที่ “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” ต้องการจะขยายพื้นที่เดิมให้เพิ่มประสิทธิภาพรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น จากก่อนเกิดโควิดมีผู้โดยสารมาใช้บริการ 13-14 ล้านคนต่อปี ล่าสุดทุ่มงบฯ 200 กว่าล้านบาทรื้อพื้นที่หญ้าเทียมปรับเป็นที่เช็กอินเพิ่ม

และกำลังจะจัดสรรงบฯอีก 6,000 ล้านบาท ขยายพื้นที่อาคารระหว่างประเทศอีกเท่าตัว จาก 13,000 ตร.ม.เป็น 27,000 ตร.ม. พร้อมสะพานเทียบเครื่องบินอีก 3 สะพาน และหลุมจอดเครื่องบิน 2 หลุม ตามแผนจะเสร็จในปี 2565 รองรับผู้โดยสาร 25 ล้านคนต่อปี และในระยะยาวมีแผนจะสร้าง “สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2” ที่ อ.โคกกลอย อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เนื้อที่ประมาณ 7,000 ไร่ ใช้เงินลงทุน 75,000 ล้านบาท

เปิดแผน “แลนด์บริดจ์”

นอกจากนี้ ยังมี “โครงการแลนด์บริดจ์” ซึ่งเป็นเมกะโปรเจ็กต์ของภาคใต้ฝั่งอันดามันจะไปเชื่อมกับ “โครงการสะพานไทย” และ “ท่าเรือแหลมฉบัง” ที่อ่าวไทย เป็นทางลัดการค้าการขนส่งของประเทศไทยกับนานาชาติ

มี “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” เป็นเจ้าภาพศึกษาความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบรายละเอียด และทำรายงาน EIA ของโครงการ ซึ่ง ครม.อนุมัติงบฯให้แล้ว 74.71 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี 2565 โดยโครงการนี้จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP

ในแผนงานจะใช้เงินลงทุน 167,494 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกระนองและชุมพร วงเงิน 15,037 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 2566-2568 โครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์เชื่อมท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง วงเงิน 45,000 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 2566-2568 โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงพานทอง-หนองปลาดุก วงเงิน 95,000 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 2567-2570 และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 12,457 ล้านบาท เสร็จปี 2564

ทั้งหมดเป็นเพียงบางส่วนยังมีโครงการยิบย่อยของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ที่ตัดโครงข่ายถนนเสริมแกร่งพื้นที่ให้สะดวกยิ่งขึ้น

ที่มา : www.prachachat.net

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23