ขึ้นไฮสปีดต้องควักกี่บาท

1313

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “การรถไฟเปิดเผยข้อมูลในสัญญารถไฟไฮสปีด 3 สนามบิน จึงอยากสรุปให้เพื่อนธรณ์  #นั่งรถไฟไปไหนนานแค่ไหนกี่บาท #ยาวแต่อยากให้อ่านเพื่อวางแผนอนาคต

เอกชนเพิ่งลงนามสร้างรถไฟไฮสปีด 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา กำหนดเวลาโดยรวมไม่เกิน 5 ปี แต่คงทยอยเปิดบริการกันไปเรื่อยๆ ข้อมูลที่นำมาเขียน ผมรวบรวมมาจากสัญญาที่เขาเปิดเผย คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะลงนามกันไปแล้ว

รถไฟแบ่งเป็น 3 แบบ City – Express – High Speed 

City Line คือ Airport Link เปิดบริการ 05.00-24.00 น. อัตราค่าโดยสารใกล้เคียงเดิม (สุวรรณภูมิถึงพญาไท) แต่จะมีเพิ่มในส่วนต่อขยาย (พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง) ถ้าใช้สายนี้วิ่งดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ใช้เวลา 45 นาที ราคา 97 บาท  ถ้ามากัน 1-2 คน ใช้บริการช่วงเวลาปรกติ ถือว่าประหยัดค่าใช้จ่าย/เวลามากกว่าแท็กซี่ แถมยังคุมเวลาได้ด้วยครับคนที่จะต้องใช้สนามบิน 2 แห่ง เช่น นั่งเครื่องมาลงสุวรรณภูมิ ต่อโลว์โคสต์ที่ดอนเมือง เชื่อว่าคงยิ้มได้ รวมถึงนักท่องเที่ยวจะสะดวกมากขึ้น

    ยังรวมถึงคนที่อยู่คอนโดในเมือง มาขึ้นที่พญาไท ไปดอนเมือง 59 บาท ไปสุวรรณภูมิ 50 บาท  ถ้าอยู่เยื้องมาแถวอโศกรัชดา ขึ้นที่มักกะสัน ไปดอนเมือง 69 บาท ไปสุวรรณภูมิ 39 บาท คนเรียนลาดกระบังสบายเหมือนกันนะ แม้บางส่วนจะคล้ายแอร์พอร์ตลิงค์เดิม แต่ที่ปรับปรุงคือช่วงเวลารอรถไฟเร็วขึ้น จากเดิม 15 นาที กลายเป็นทุก 10 นาที (ชั่วโมงเร่งด่วน) และ 15 นาทีในช่วงอื่น. คราวนี้มาดูไฮสปีด แบ่งง่ายๆ เป็น Express Line และ High Speed Line Express Line วิ่งในเมือง จอดเฉพาะดอนเมือง-บางซื่อ-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ จากดอนเมือง-สุวรรณภูมิ 35 นาที ค่าโดยสาร 183 บาท เร็วกว่า City 10 นาที แต่จ่ายเพิ่มเกือบเท่าตัว น่าจะเหมาะสำหรับผู้เดินทางคนเดียว จ่ายน้อยกว่าแท็กซี่แต่ถึงเร็วกว่า
      สุดท้ายคือ High Speed Line วิ่งเร็วจี๋ 250 กม/ชม ถือเป็นไฮสปีดสายแรกที่คนไทยจะได้ใช้ รถไฟ 8-car Train (8 ตู้) นั่งได้ 450-600 คนต่อขบวน ไม่มีผู้โดยสารยืน จอดสถานีละ 1 นาที ให้บริการ 06.00-22.00 น. จากสถานีหลักมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา 210 บาท ใช้เวลา 30 นาที ใครคิดมีบ้านในชนบท แต่ทำงานแถวอโศก-รัชดา มีเงินจ่ายค่าเดินทางวันละ 420 บาท คุณอาจสมหวังครับ 

Advertisement

    ถ้าจะไปเมืองชล ใช้เวลาจากมักกะสัน 45 นาที เตรียมเงินไว้ 287 บาท คนเมืองชลอยากไปขึ้นเครื่องที่สุวรรณภูมิ 238 บาท ใช้เวลา 30 นาที อันนี้ได้ใจ เผลอๆ จะถูกกว่าและเร็วกว่าคนกรุงเทพนั่งแท็กซี่ไปสุวรรณภูมิ จากมักกะสันไปศรีราชา 331 บาท ใช้เวลา 55 นาที ลองคิดถึงคนญี่ปุ่น/ต่างชาติ เช่าคอนโด/ทำงานออฟฟิศแถวอโศก/รัชดา ไปประชุมคุมงานที่ศรีราชาแบบเช้าไปเย็นกลับ มันสะดวกเรื่องธุรกิจดีนะ ถ้าลงเครื่องที่สุวรรณภูมิ จะไปศรีราชาทันที จ่ายเงิน 282 บาท ใช้เวลา 40 นาทีก็ถึง ด้วยความเร็ว/สะดวกเช่นนี้ ศรีราชา/แหลมฉบังจะเปลี่ยนไปอีกเยอะ (ตอนนี้ก็ตึกสูงเพียบ) หรือแม้แต่คณะประมง เรามีสถานีวิจัยอยู่ติดทะเลศรีราชา (ไม่ใช่ม.เกษตรวิทยาเขตศรีราชานะจ๊ะ

   ตอนนี้ห้างเซนทรัลยักษ์กำลังจะเปิดห่างจากสถานีไปแค่ 400-500 เมตร แถมนิสิตยังนั่งไฮสปีดไปฝึกงานได้อีกแน่ะ (รีบเข้ามาเรียนสิจ๊ะ) ผมฝันไว้ว่าจะพยายามผลักดันสถานีแห่งนี้เป็นศูนย์ทำงานเรื่องทะเลและสิ่งแวดล้อมใน EEC หวังว่าจะเห็นอะไรบ้างก่อนเกษียณ

     คราวนี้มาถึงจุดสำคัญ พัทยา จากมักกะสันจ่ายเงิน 379 บาท ใช้เวลาไม่ถึง 70 นาที (ปรกติขับรถจากบ้านผม 2 ชั่วโมงครึ่ง ถ้ารถติดไม่ต้องพูดถึงจ้ะ)  เหล่านักดำน้ำที่ไปพัทยาเป็นประจำ น่าจะยิ้มแป้น ไม่ต้องรีบขับรถออกตอนตีห้าครึ่ง/หกโมง แค่ไปขึ้นรถไฟให้ทันเที่ยว 7.30 น. แปดโมงสี่สิบก็ถึงพัทยา ลงเรือ 9 โมงน่าจะทันนะ มาดูนักท่องเที่ยวบ้าง ลงเครื่องที่สุวรรณภูมิ จ่ายเงิน 330 บาท ใช้เวลา 50 นาที ไปถึงพัทยา โอ้…ไอเลิฟยู

      อ่านแล้วเห็นเลยว่า พัทยาน่าจะมีคนมาอีกเยอะ แต่ขึ้นกับการจัดการนำคนจากสถานีเข้าหาด/เมืองว่าจะทำได้เนียนแค่ไหน (ถ้าลงรถไฟแล้วนั่งรถตู้เข้าไป ติดอยู่บนถนนอีกค่อนชั่วโมง อย่างนั้นก็เหนื่อยครับ)  สถานีอยู่แถวถนนสุขุมวิท แหล่งท่องเที่ยวตั้งแต่จอมเทียน-บางเสร่ จะได้อานิสงส์อีกเยอะ (มอเตอร์เวย์สายใหม่ก็กำลังจะเปิดบริการ มีทางลงแถวนี้ สองเด้งฮะ)

คราวนี้ลองเทียบว่าค่าตั๋วแพงไหม ?

   ถ้าเทียบกับรถไฟสายเร็วสุดจากนาริตะ-โตเกียว ใช้สาย Skyliner ใช้เวลา 50 นาที ค่าตั๋ว 2,500 เยนต่อเที่ยว คิดเรท 100 เยน/ 30 บาท ของเขา 750 บาท ของเรา 330 บาท (เทียบจากสุวรรณภูมิ-พัทยาที่ใช้เวลา 50 นาที) แน่นอนว่าคนญี่ปุ่นมีรายได้สูงกว่าคนไทย แต่รถไฟความเร็วสูงของเราก็ต้องสั่งเข้ามาทั้งระบบทั้งขบวนรถ มันก็ต้องจ่ายเงินเท่าๆ กัน จะแพงกว่าด้วยซ้ำเพราะของเราต้องนำเข้าเสียค่าขนส่ง จะถูกกว่าก็คงเป็นค่าแรงก่อสร้าง/ที่ดิน เพราะฉะนั้น สำหรับผมถือว่าค่าตั๋วพอรับได้

   รถไฟความเร็วสูงจะตอบโจทย์นักธุรกิจ/นักท่องเที่ยวมากกว่าผู้คนที่สัญจรไปมาทุกวัน ซึ่งก็เป็นปรกติเหมือนประเทศอื่น เมื่อดูจากโมเดลชินคันเซนตอนแรกเริ่ม โตเกียว-นาโกยา-โอซากา เราก็เห็นความคล้ายคลึงอยู่นะ จะเป็นสายกรุงเทพ-ศรีราชา-ระยอง (ในอนาคตคงต่อไปถึงที่นั่น) เชื่อมต่อกรุงเทพกับแหล่งอุตสาหกรรม/ขนส่ง/พลังงาน (ศรีราชา-แหลมฉบัง-มาบตาพุด แต่ของเรายังมีสนามบินตั้ง 3 แห่ง แถมเมืองท่องเที่ยวใหญ่อย่างพัทยา ดูแล้วน่าจะรุ่ง (หวังไว้ครับหวังไว้ ฝันให้ไกลหน่อย)

    หากมองในด้านการพัฒนาของพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าในปี 65 พื้นที่ EEC จะมีคน 4.38 ล้านคน และจะกลายเป็น 6 ล้านคนในปี 2580 (สวนทางกับประชากรไทยที่จะลดลง) และถ้าดูด้านการท่องเที่ยว จะเป็นการเชื่อมต่อ เครื่องบิน-รถไฟ-รถ (โมโนเรล) –เรือ เกาะสีชัง เกาะล้าน จะมีคนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเฟอรี่ข้ามอ่าว พัทยา-หัวหิน ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจากสุวรรณภูมิ 50 นาทีถึงพัทยา ไปอีก 2 ชั่วโมงถึงหัวหิน (330 บาท 1,250 บาท) นั่นคือการพัฒนาและความสะดวกสบาย แต่เราก็คงต้องดูด้านความยั่งยืนไปด้วย  เราจะเจอประชากรมากขึ้น นักท่องเที่ยวมากขึ้น ฯลฯ ผลกระทบ ขยะ น้ำเสีย การใช้ประโยชน์จากแนวปะการัง หาดทราย ฯลฯ ย่อมมีมากขึ้น เมื่อคิดถึงสภาพปัจจุบัน ตอนนี้ก็มีเยอะแล้ว หากเราวางแผนรองรับไม่รอบคอบ ชกไม่ตรงเป้าเอาแต่ประชุม ไม่เกิดความจริงในพื้นที่ จนดัชนีขีดความสามารถท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหล่นตุบมาจนติดกลุ่มบ๊วย (อันดับ 130 จาก 140 ประเทศ – World Economic Forum)

       แม้รถไฟจะเร็วแค่ไหน แต่คุณภาพชีวิตก็ตกต่ำ ความหวังในการพัฒนาธุรกิจก็มืดหม่น โดยเฉพาะในยุคที่โลกโกกรีนกันเต็มๆ เช่นนี้ ทางฝ่ายยุทธศาสตร์ EEC ก็วางแผนเรื่องนี้ไว้ แต่ขอยกยอดไปพูดถึงคราวหน้าว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน ? หนนี้ขอพูดแค่รถไฟไฮสปีด ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังมา นักสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องรู้เขารู้เรา เพื่อการเสนอแนะพูดคุยอย่างทันเหตุการณ์ และคงมีประโยชน์ต่อการวางแผนอนาคตของเพื่อนธรณ์ ทำงานที่ไหน ผ่อนคอนโดแถวไหน ไปทำไร่ยั่งยืนแถวไหน เปิดร้านอาหารร้านกาแฟ ฯลฯ   

       อย่าลืมว่าประชากรไทยกำลังจะลดลง อัตราเพิ่มของนักท่องเที่ยวจะไม่โตเหมือนเดิม ความเจริญจะไม่กระจายไปทุกแห่งหน แต่จะกระจุกตัวอยู่บางพื้นที่ ซึ่งมีการลงทุนเป็นจำนวนมากในประเทศอื่นๆ ก็คล้ายคลึงกัน หลายเมืองในญี่ปุ่นเงียบกริบ บ้านร้างมีเพียบการทำความเข้าใจกับโลกยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง จึงสำคัญมากมาย

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/414229

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23